Gplace
พระพุทธรูปไม้จำหลัก กลุ่มพระพุทธรูปไม้จำหลักที่สร้างขึ้นในเมืองน่าน ส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในสมัยที่ 4 ของศิลปน่าน อายุราว พ.ศ.2329-พุทธสตวรรษที่ 25 อันเป็นช่วงระยะเวลาที่มีการฟื้นฟูศิลปในเมืองน่านอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากที่ สมเด็จเจ้าฟ้าอัดถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่านเชื้อสายราชวงศ์ เจ้าพระยาหลวงติ๋น ได้เข้ามาขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในปี พ.ศ.2331
พรพุทธรูปไม้ที่สร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก และมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป จนยากที่จะกำหนดรูปแบบโดยเฉพาะได้ ความแตกต่างเหล่านี้ได้แก่ รูปแบบของทรวดทรง รูปพระพักตร์ เปลวรัศมี พระกรรณ และสัดส่วนของฐาน อันจะพบเห็นได้โดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ลักษณะเด่นที่สำคัญของพระพุทธรูปไม้จำหลักที่มีขนาดใหญ่นั้น มักจะมีความคล้ายคลึงกัน คือนิยมสลักเป็นพระพุทธรูปประทับยืน พระกรทั้ง 2 ข้างทอดแนบพระองค์ ปลายพระหัตถ์เหยียดตรงชี้ลงทางด้านล่าง มีทั้งทรงเครื่องแบบกษัตริย์ และครองจีวงเรียบไม่ทรงเครื่อง
ประติมากรรมรูปพระพุทธรูปทรงเครื่องนี้ ส่วนใหญ่คงได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปรัตนโกสินทร์ แต่ช่างได้ดัดแปลงลักษณะปาง ลวดลายเครื่องประดับและลักษณะของพระพักตร์ ออกไปตามความนิยมของช่างพื้นเมือง จนอาจจัดได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของประติมากรรมน่านที่สร้างขึ้นในสมัยนี้
กลุ่มพระพุทธรูปไม้ในเมืองน่านนอกจากจะได้รับอิทธิพลจากศิลปรัตนโกสินทร์แล้ว ยังได้รับอิทธิพลจากศิลปพม่าและศิลปล้านช้างอีกด้วย ขณะเดียวกันยังนิยมลอกเลียนแบบประติมากรรม ที่สร้างขึ้นในเมืองน่านสมะยปรห เช่น พรพุทธรูปปางลีลาที่ได้รับอิทธิพลศิลปสุโขทัย และพุทธรูปปางมารวิชันอิทธิพลศิลปล้านนา เป็นต้น
การกำหนดอายุของพระพุทธรูปไม้เหล่านี้ทำได้ง่ายกว่าพระพุทธรูปที่หล่อด้วยสำริด เพราะส่วนใหญ่จะมีจารึก ปีศักราชและชื่อผู้สร้าง สลักไว้ตามบริเวณฐาน ข้อความส่วนใหญ่มักจะมีความคล้ายคลึงกันคือ สร้างเพื่อหวังผลบุญ ในการสืบพระพุทธศาสนา 5,000 ปี