พุทธปัญจภาคี พระ 5 พี่น้องลอยน้ำมา

16202
พุทธปัญจภาคี พระ 5 พี่น้องลอยน้ำมา พระพุทธรูป ห้าพี่น้อง ลอยน้ำมา

กาลครั้งหนึ่งมีพี่น้องชาวเมืองเหนือ 5 คน บวชเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา ได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน มีฤทธิ์อำนาจทางจิตมาก ได้พร้อมใจกันตั้งสัจจะอธิษฐานว่า

“เกิดมาชาตินี้จะขอบำเพ็ญบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ แม้ตายไปแล้ว ก็จะสร้างบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ต่อไป จนกว่าจะถึงซึ่งนิพพาน”

ครั้นพระอริยบุคคลทั้งห้าองค์นี้ดับขันธ์ไปแล้ว ก็เข้าสถิตอยู่ในพระพุทธรูปทั้งห้าองค์ มีความปรารถนาจะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ให้คนทางเมืองใต้ จึงพากันแสดงฤทธิ์ปาฏิหาริย์ให้พระพุทธรูปทั้งห้าองค์ลอยน้ำมาทางใต้ตามแม่น้ำสายหลักของภาคกลางทั้ง 5 สาย

ชาวบ้านชาวเมืองตามริมฝั่งแม่น้ำเห็นพระพุทธรูปทั้งห้าองค์ลอยน้ำมาก็พากันเลื่อมใส จึงได้นำพระพุทธรูปเหล่านั้นขึ้นฝั่งและอาราธนาให้ขึ้นสถิตอยู่ตามวัดต่างๆ ที่ใกล้เคียงกับจุดที่ชะลอองค์พระขึ้นจากแม่น้ำ โดยพระพุทธรูปองค์แรก ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกง แล้วขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เรียกว่า“หลวงพ่อโสธร” พระพุทธรูปองค์ที่สอง ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม เรียกว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” พระพุทธรูปองค์ที่สาม ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เรียกว่า “หลวงพ่อโต” พระพุทธรูปองค์ที่สี่ ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดเพชรสมุทรวรวิหาร (วัดบ้านแหลม) อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เรียกว่า “หลวงพ่อบ้านแหลม” และพระพุทธรูปองค์ที่ห้า ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เรียกว่า “หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา”

ในขณะที่บางตำนานก็กล่าวไว้ว่า การที่พระพุทธรูปทั้ง 5 ลอยน้ำมานี้ ก็เพราะเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ข้าศึกได้เผาไฟเพื่อหลอมเอาทองที่หล่อจากองค์พระพุทธรูป ชาวบ้านเองก็ต้องการจะรักษาพระพุทธรูปไว้ จึงเอาปูนบ้าง รักดำบ้าง ไปพอกไว้ที่องค์พระเพื่อให้ดูไม่สวยงามและปกปิดความมีค่าไว้จากข้าศึก แต่เมื่อไม่อาจปกป้องได้ไหวจึงขนย้ายพระพุทธรูปสำคัญลงแพไม้ไผ่ล่องมาตามแม่น้ำเพื่อไม่ให้ข้าศึกทำลาย ด้วยน้ำหนักขององค์พระ เมื่อวางพระลงบนแพไม้ไผ่จึงดูเหมือนพระพุทธรูปลอยมาตามน้ำ จนผู้ที่พบเห็น ถือเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ที่พระพุทธรูปองค์ใหญ่น้ำหนักมากจะสามารถจะลอยน้ำได้

พระพุทธรูปทั้ง 5 องค์นี้ ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด ที่มีผู้คนทั้งชาวไทยและต่างประเทศหลั่งไหลมาเคารพสักการะมิได้ขาด เรื่องราวความเป็นมาและปาฏิหาริย์ของพระพุทธรูปแต่ละองค์มีดังต่อไปนี้

-------------------------------------------------------------------------------------

ตำนานของ “หลวงพ่อโสธร”
แห่งแม่น้ำบางปะกง
วัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อโสธรหรือหลวงพ่อพุทธโสธรนี้ มีผู้เล่าสืบกันมาหลายกระแส บ้างว่า ท่านมีพี่น้องที่ลอยน้ำมาพร้อมกัน 3 องค์ คือ หลวงพ่อบ้านแหลม หลวงพ่อโตบางพลี และหลวงพ่อโสธร ส่วนอีกตำนานหนึ่งบอกว่า ท่านเป็นพี่น้องกับหลวงพ่อบ้านแหลมและหลวงพ่อวัดไร่ขิง และก็ยังมีนิยายปรัมปราที่เล่าสืบมาว่า ท่านลอยน้ำมาพร้อมกับหลวงพ่อบ้านแหลม และหลวงพ่อวัดเขาตะเครา

อย่างไรก็ตาม ตำนานที่เล่าขานกันมานี้ก็มีความคล้ายคลึงกันว่า พระพุทธรูป 3 องค์พี่น้องลอยน้ำมาจากทางเมืองเหนือ จนกระทั่งมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า “สามเสน” จึงได้แสดงอภินิหารลอยให้ชาวเมืองเห็น ชาวบ้านจึงได้ทำการฉุดพระพุทธรูปทั้งสามองค์ โดยใช้เวลา 3 วัน 3 คืนก็ฉุดไม่ขึ้น กล่าวกันว่าครั้งนั้นใช้ผู้คนเป็นแสนๆ ก็ไม่สำเร็จ ตำบลนั้นจึงได้ชื่อว่า “สามแสน” ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น “สามเสน” พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ก็จมน้ำลง

หลวงพ่อโสธร (จำลอง)

จากนั้นก็ลอยล่องเข้าสู่คลองพระโขนงลัดเลาะไปสู่แม่น้ำบางปะกง และได้ลอยผ่านคลอง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า คลองชักพระ พระพุทธรูปได้แสดงอภินิหารลอยขึ้นให้ชาวบ้านเห็น ชาวบ้านจึงพากันมาชักพระขึ้นจากน้ำ แต่ไม่สำเร็จ จึงเรียกคลองนี้ว่า “คลองชักพระ” แล้วทั้งสามองค์ก็ได้ลอยทวนน้ำขึ้นไปทางหัววัดอีก สถานที่นั้นจึงเรียกว่า “วัดสามพระทวน” และเรียกเพี้ยนเป็น “วัดสัมปทวน” ทั้งสามองค์ได้ลอยตามแม่น้ำบางปะกงเลยผ่านหน้าวัดโสธรไปถึงคุ้งน้ำใต้วัดโสธร และแสดงอภินิหารให้ชาวบ้านเห็นอีก ชาวบ้านได้ช่วยกันฉุดแต่ไม่ขึ้น จึงเรียกหมู่บ้านและคลองนั้นว่า “บางพระ” มาจนทุกวันนี้ พระพุทธรูปทั้งสามได้ลอยทวนน้ำวนอยู่ที่หัวเลี้ยวตรงกับกองพันทหารช่างที่ 2 ณ สถานที่ลอยวนอยู่นั้นเรียกว่า “แหลมหัววน”

อัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากน้ำ

หลังจากนั้นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง คือ หลวงพ่อโสธรได้แสดงอภินิหารลอยมาขึ้นที่หน้าวัดโสธร ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า วัดหงษ์ ชาวบ้านช่วยกันยกและฉุดขึ้นจากน้ำ แต่ไม่สามารถนำขึ้นได้ จนมีอาจารย์ผู้หนึ่งรู้วิธีอัญเชิญ โดยตั้งพิธีบวงสรวงใช้สายสิญจน์คล้องกับพระหัตถ์ จนสามารถอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานในวิหารได้สำเร็จ ในราว พ.ศ.2313

ในการนี้จึงจัดให้มีการสมโภชฉลององค์หลวงพ่อ หลังจากท่านได้ประทับที่วัดหงส์เรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านยังไม่รู้ว่าจะขนานนามชื่อของหลวงพ่อว่าอย่างไร แต่เข้าใจว่าท่านคงต้องการชื่อเดิมของท่าน คือ “พระศรี” เพราะเป็นชื่อดั้งเดิมขณะประทับที่วัดศรีเมือง ทางภาคเหนือ ประกอบกับมีเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าหลวงพ่อมีความประสงค์จะใช้นามว่า “หลวงพ่อพุทธศรีโสธร” เพราะได้เกิดพายุพัดเอาหงษ์ที่ตั้งอยู่บนยอดเสาหักลงมา ชาวบ้านจึงเปลี่ยนหงษ์เป็นเสาธง แล้วเรียกชื่อวัดหงษ์เป็นวัดเสาธง

ต่อมาไม่นานก็เกิดพายุพัดเสาธงหักทอนลงอีก ชาวบ้านจึงเรียกวัดเสาธง ว่า “วัดเสาธงทอน” ภายหลังเห็นว่าไม่ไพเราะ จึงได้พร้อมใจกันเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดโสธร” และเรียกนามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อโสธร” ต่อมาวัดโสธรได้รับการเสนอแต่งตั้งให้เป็นวัดหลวง ได้ชื่อว่า “วัดโสธรวรารามวรวิหาร” และขนานนามหลวงพ่ออย่างเป็นทางการว่า “หลวงพ่อพุทธโสธร”

ปกปิดองค์จริง

องค์เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ปางสมาธิ หน้าตักกว้างเพียงศอกเศษ มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยลานช้าง เพราะดูจากพุทธลักษณะซึ่งเป็นที่นิยมสร้างกันมากในสมัยนั้น แต่เนื่องจากพระสงฆ์ในวัดขณะนั้นพิจารณาเห็นว่าอาจจะไม่ปลอดภัยในภายภาคหน้า จึงได้พอกปูนเสริมให้ใหญ่เพื่อหุ้มองค์จริงไว้ภายใน จนมีหน้าตักกว้างประมาณสามศอกครึ่ง อย่างที่เห็นในปัจจุบัน แล้วจึงลงรักปิดทองให้สวยงาม และเป็นพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา

-------------------------------------------------------------------------------------

ตำนานของ “หลวงพ่อโต”
แห่งคลองสำโรง แม่น้ำเจ้าพระยา
วัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

หนึ่งในพระห้าพี่น้อง ที่พร้อมใจกันลอยน้ำมาจากทางเหนือนั้น มีอยู่องค์เดียวที่มิได้มีพระนามตามชื่อวัด หรือตามชื่อของหมู่บ้านที่ชาวบ้านเป็นผู้พบเห็นครั้งแรก แต่พระนามของท่านนั้น ชาวบ้านขนานนามตามพุทธลักษณะของท่านที่มีองค์ใหญ่โตว่า “หลวงพ่อโต” ประดิษฐานอยู่ ณ วัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ประวัติความเป็นมา

หลวงพ่อโตได้ล่องลอยเรื่อยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วลอยเข้ามาในลำคลองสำโรง ผู้พบเห็นต่างโจษจันกันไปทั่วถึงปาฏิหาริย์ในครั้งนี้ จึงพากันอาราธนาหลวงพ่อขึ้นที่ปากคลองสำโรง แต่ฉุดดึงเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ท่านไม่ยอมขึ้น

มีผู้มีปัญญาดีคนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า คงเป็นเพราะบุญญาอภินิหารของท่าน แม้จะใช้จำนวนผู้คนสักเท่าไรอาราธนาฉุดท่านขึ้นบนฝั่งคงไม่สำเร็จเป็นแน่ ควรจะเสี่ยงทายต่อแพผูกชะลอกับองค์ท่าน แล้วใช้เรือพายฉุดท่านให้ลอยมาตามลำน้ำสำโรง และอธิษฐานว่า “หากท่านประสงค์จะขึ้นโปรดที่ใด ก็ขอแสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาจงหยุด ณ ที่นั้นเถิด” เมื่อประชาชนทั้งหลายได้เห็นพ้องต้องกันดังนั้นแล้ว ก็พร้อมใจกันทำแพผูกชะลอกับองค์ท่าน แล้วใช้เรือพายช่วยกันจ้ำพายจูงแพลอยเรื่อยมาตามลำคลอง

ครั้นแพลอยมาถึงบริเวณหน้า วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม หรือปัจจุบันนี้คือ วัดบางพลีใหญ่ใน แพที่ผูกชะลอองค์ท่านก็เกิดหยุดนิ่ง ฝีพายพยายามจ้ำและพายกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง แพนั้นก็หาได้ขยับเขยื้อนไม่ ชาวบางพลีถึงกับขนลุกซู่เห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก ต่างก้มลงกราบนมัสการด้วยความเคารพสักการะ แล้วพร้อมใจกันอาราธนาตั้งจิตอธิษฐานว่า “ถ้าหลวงพ่อจะโปรดคุ้มครองชาวบางพลีให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขแล้ว ก็ขออาราธนาอัญเชิญองค์ท่านให้ขึ้นจากน้ำได้โดยง่ายเถิด”

และก็เป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก เพียงใช้คนไม่มากนัก ก็สามารถอาราธนาท่านขึ้นจากน้ำได้โดยง่าย ทำให้ประชาชนต่างแซ่ซ้องในอภินิหารของท่าน และได้อาราธนาท่านขึ้นไปประดิษฐานในพระวิหาร ซึ่งต้องชะลอท่านขึ้นข้ามฝาผนังวิหาร เพราะขณะนั้นหลังคาพระวิหารยังไม่มี และประตูวิหารก็เล็กมาก ต่อจากนั้นท่านจึงได้ประดิษฐานอยู่ในวิหารนั้นเรื่อยมา ครั้นต่อมาได้รื้อวิหารนั้นเพื่อสร้างเป็นพระอุโบสถที่ถาวร จึงต้องชะลออาราธนาองค์ท่านมาพักไว้ยังศาลาชั่วคราว จนกระทั่งได้สร้างพระอุโบสถสำเร็จแล้ว จึงได้อาราธนาท่านไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ เพื่อเป็นประธานของวัดบางพลีใหญ่ใน

หลวงพ่อโตแปลงร่าง

เมื่อครั้งที่ท่านยังประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเก่า บางวันที่เป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ กลางคืนผู้คนจะได้ยินเสียงพึมพำอยู่ในวิหารคล้ายเสียงสวดมนต์ ครั้นเมื่อเข้าไปดูก็ไม่เห็นมีใครอยู่ในนั้นเลยนอกจากหลวงพ่อโต บางคราวพระภิกษุสามเณรในวัดจะเห็นพระภิกษุชราห่มจีวรสีคร่ำคร่า ถือไม้เท้าเดินออกมายืนสงบนิ่งอยู่หน้าวิหาร ผู้ที่พบเห็นต่างก็เรียกกันมาดู เมื่อทุกคนเห็นพร้อมกันดีแล้ว ภิกษุชรารูปนั้นก็เดินหายเข้าไปในวิหารตรงองค์ของหลวงพ่อ เป็นดังนี้หลายครั้งหลายหน บางครั้งจะมีผู้เห็นเป็นชายชรารูปร่างสง่างาม มีรัศมีเปล่งปลั่ง นุ่งขาวห่มขาวเข้ามาหาหลวงพ่อแล้วก็หายไปตรงพระพักตร์ของท่าน

แสดงปาฏิหาริย์

เมื่อสร้างพระอุโบสถเสร็จใหม่ๆ ก่อนจะอาราธนาหลวงพ่อเข้าไปประดิษฐานภายในพระอุโบสถ ได้วัดองค์ท่านกับช่องประตูพระอุโบสถ ช่องประตูใหญ่กว่าองค์ท่านประมาณ 5 นิ้ว ซึ่งสามารถนำท่านชะลอผ่านประตูเข้าไปได้สบายมาก ครั้นเวลาอาราธนาหลวงพ่อเข้าสู่พระอุโบสถจริงๆ กลับปรากฏว่า องค์หลวงพ่อใหญ่กว่าช่องประตูมาก จะทำอย่างไรก็ไม่สามารถนำท่านผ่านประตูเข้าไปได้

คณะกรรมการและประชาชนทั้งหลายเห็นเช่นนั้นก็พากันตกใจ ให้ความเห็นว่าต้องทุบช่องประตูออกเสียให้กว้าง เมื่อนำหลวงพ่อเข้าไปแล้วค่อยทำประตูกันใหม่ แต่บางท่านให้ความเห็นว่าหลวงพ่อโตคงจะแสดงอภินิหารให้ทุกคนได้เห็นเป็นอัศจรรย์ก็ได้ ดังนั้นจึงพร้อมใจกันจุดธูปเทียนบูชาอธิษฐานขอให้หลวงพ่อผ่านเข้าประตูพระอุโบสถได้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญคุ้มครองชาวบางพลีสืบต่อไป เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้ว ก็อาราธนาหลวงพ่อเข้าสู่ประตูพระอุโบสถใหม่ คราวนี้ทุกคนก็ต้องแปลกใจที่องค์หลวงพ่อผ่านเข้าประตูพระอุโบสถได้อย่างง่ายดาย โดยมีช่องว่างระหว่างองค์หลวงพ่อกับประตูพระอุโบสถเสียอีก นับว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์ในอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อโตยิ่งนัก

ครั้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2520 หลวงพ่อได้กระทำให้เกิดปาฏิหาริย์ที่องค์ท่านซึ่งเป็นทองสัมฤทธิ์ เกิดนุ่มนิ่มไปหมดทั้งองค์ดังเนื้อมนุษย์ และต่อมาในปี พ.ศ.2522 ก็เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้อีกครั้งหนึ่ง

-------------------------------------------------------------------------------------

ตำนานของ “หลวงพ่อวัดไร่ขิง”
แห่งแม่น้ำนครชัยศรี
วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม

เรื่องราวของพระพุทธรูป 5 พี่น้อง ที่เล่าสืบกันมาว่าทุกองค์พร้อมใจลอยน้ำมาจากทางเหนือ เพื่อจะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ให้คนเมืองใต้ บัดนี้เรื่องราวได้ดำเนินมาจนถึง พระพุทธรูปองค์สุดท้ายที่ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี และขึ้นประดิษฐานที่วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม ชาวบ้านขนานนามท่านว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง”

ประวัติความเป็นมา

ความเป็นมาของหลวงพ่อวัดไร่ขิงนั้น มีตำนานเรื่องหนึ่งที่เล่าสืบกันมาพอเป็นเค้า แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดนักว่า ในสมัยที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมราชานุวัตร ในปี พ.ศ.2394 นั้น ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นไปครอง วัดศาลาปูนวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเจ้าคณะใหญ่กรุงเก่า วันหนึ่งท่านได้ลงไปที่วัดไร่ขิง เมื่อท่านเข้าไปในพระอุโบสถกราบพระประธานแล้ว ท่านก็ได้สนทนากับเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงว่า “โบสถ์ใหญ่โต แต่พระประธานเล็กไปหน่อย” เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงกราบเรียนท่านว่า “วัดไร่ขิงเป็นวัดจนๆ ไม่สามารถสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ได้” เมื่อทราบดังนั้นท่านจึงบอกว่าที่วัดของท่านมีอยู่องค์หนึ่งให้เจ้าอาวาสไปอัญเชิญมาได้

เมื่อสมเด็จฯ กลับไปแล้วไม่นาน เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงพร้อมทั้งกรรมการวัดได้เดินทางไปยังวัดศาลาปูน และอัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวลงแพที่ใช้ไม้ไผ่มัดล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าแม่น้ำนครชัยศรี จนกระทั่งถึงวัดไร่ขิง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถแทนองค์เดิมตั้งแต่นั้นมา และขนานนามพระพุทธรูปองค์ใหม่นี้ตามนามของวัดว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง”

เหตุอัศจรรย์

ในวันที่ชาวบ้านทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพไม้ไผ่ ตรงกับวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์พอดี จึงมีชาวบ้านมาร่วมเป็นจำนวนมาก ขณะที่กำลังอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพสู่ปะรำพิธีนั้น ได้เกิดเหตุการณ์เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก เพราะแสงแดดที่แผดจ้าพลันหายไป บังเกิดเป็นเมฆดำทะมึน ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนองกึกก้อง ฝนโปรยปรายลงมา ยังความฉ่ำเย็นกันทั่วหน้า ทุกคนในที่นั้นเกิดความปีติโสมนัสยิ่งนัก พากันอธิษฐานเป็นเสียงเดียวกันว่า

“หลวงพ่อจักทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร ฉะนั้น”

และนับตั้งแต่ที่หลวงพ่อมาประดิษฐานที่วัดไร่ขิง ก็มีประชาชนพากันมาเคารพสักการะมิได้ขาด โดยเฉพาะวันหยุดและวันนักขัตฤกษ์ อุโบสถของหลวงพ่อจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศ ที่ได้ยินได้ฟังและได้ประสบในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อ

ความศักดิ์สิทธิ์

เรื่องราวเกี่ยวกับอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง มีผู้คนเล่าไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางด้านแคล้วคลาด ทางด้านเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ เช่น เรื่องของหญิงวัยกลางคนซึ่งถูกฟ้าผ่ากลางท้องนา แต่ไม่ตาย ทั้งๆ ที่หมอที่รับรักษาบอกว่าถ้าโดนอย่างนี้ไม่เคยมีรอดสักรายเดียว ทั้งนี้เพราะห้อยเหรียญรูปหลวงพ่อนั่นเอง

หรือเรื่องของสุภาพสตรีท่านหนึ่งอยู่ที่อเมริกา มีอาการชาที่ริมฝีปาก รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย ญาติพี่น้องทางเมืองไทย ซึ่งนับถือหลวงพ่อวัดไร่ขิง จึงได้ส่งพระรูปจำลององค์เล็กๆ ไปให้ บอกว่าให้อธิษฐานจิตขอให้หลวงพ่อช่วย สุภาพสตรีท่านนี้ก็ทำตาม คืนหนึ่งเธอฝันเห็นหลวงพ่อ คิดว่าท่านได้มาช่วยแล้ว ในที่สุดก็หายจากโรคดังกล่าว และได้ส่งเงินมาถวายร่วมสร้างโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เป็นจำนวนมาก

และยังมีเรื่องของชายคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากโจรปล้นรถ เพราะขณะที่กำลังอยู่ในนาทีวิกฤตนั้นเขานึกถึงหลวงพ่อวัดไร่ขิง อธิษฐานว่าหากรอดตายจะบวชถวายหลวงพ่อหนึ่งพรรษา แล้วเขาก็รอดตายจริงๆ สุดท้ายก็มาบวชถวายที่วัดไร่ขิง ตามที่ได้บนบานไว้

ส่วนเรื่องน้ำมนต์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นที่น่าเชื่อถือมานานแล้วว่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บปวดหัวตัวร้อนได้ชงัดนัก แม้แต่วัวควายเป็นไข้ก็รักษาให้หายได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ที่มากราบหลวงพ่อ นิยมนำน้ำมนต์กลับบ้านทุกราย เดิมที่วัดจัดเป็นถุงพลาสติกใบเล็กๆ ให้ใส่ แต่เมื่อมีผู้คนต้องการมากขึ้น และการใส่ถุงพลาสติกก็อาจแตกกลางทางได้ ทางวัดจึงบรรจุน้ำมนต์ใส่ในขวดพลาสติก เพื่ออำนวยสะดวกแก่สาธุชนผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งจะหลั่งไหลมากราบไหว้หลวงพ่อเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

-------------------------------------------------------------------------------------

ตำนานของ “หลวงพ่อบ้านแหลม”
แห่งแม่น้ำแม่กลอง
วัดเพชรสมุทรวรวิหาร (วัดบ้านแหลม)
ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม

พระพุทธรูป 5 องค์ที่ลอยน้ำมาด้วยกันจากทางเหนือนั้น มีเพียงองค์เดียวที่ป็นพระพุทธรูปยืน คือองค์ที่ลอยไปตามแม่น้ำแม่กลอง แล้วขึ้นสถิตอยู่ที่วัดบ้านแหลม อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ก็คือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าหลวงพ่อบ้านแหลมนั่นเอง

ประวัติความเป็นมา

สำหรับหลวงพ่อบ้านแหลม มีตำนานอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรี ได้พากันมาจับปลาในทะเล ขณะที่ลากอวนอยู่นั้นได้ลาก พระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย ติดอวนขึ้นมาองค์หนึ่ง ทุกคนต่างดีใจมาก จึงอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นบนเรือ แล้วพากันล่องกลับเข้าฝั่ง แต่ระหว่างทางคนในเรือได้แลเห็นพระเกศของพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งลอยปริ่มๆ น้ำอยู่ไม่ไกลนัก จึงร้องบอกให้ทุกคนทราบ แล้วเทียบเรือเข้าไป จึงได้พบ พระพุทธรูปยืน ทุกคนต่างอัศจรรย์ใจเป็นที่สุดที่พระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลืองแต่ลอยอยู่ในน้ำได้ จึงพากันกราบนมัสการด้วยความเลื่อมใสในอภินิหารและอิทธิฤทธิ์ที่ได้พบเห็น แล้วอาราธนาขึ้นบนเรืออีกลำหนึ่ง

พอเรือแล่นมาถึงแม่น้ำแม่กลองตอนหน้า วัดศรีจำปา ได้เกิดอาเพทคล้ายกับว่า พระพุทธรูปยืน ท่านประสงค์ที่จะอยู่วัดนี้ จึงทำให้ฝนตกหนัก ลมพายุพัดจัด จนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น เรือลำที่พระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่นั้น ทนคลื่นลมไม่ไหว จึงเอียงวูบไป พระพุทธรูปที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายไปในแม่น้ำ ชาวบ้านแหลมพากันตกใจและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ต่างช่วยกันดำน้ำค้นหาอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่พบ จึงตกลงว่าไม่ค้นหากันต่อไปอีก จึงนำพระพุทธรูปองค์นั่งองค์ที่เหลืออยู่ไปยังถิ่นของตน และนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

กาลต่อมาชาวบ้านศรีจำปาต่างช่วยกันลงดำน้ำค้นหาพระพุทธรูปที่จมอยู่นั้น และอาจเป็นด้วยเพราะอภินิหารของหลวงพ่อที่จะอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านศรีจำปา จึงทำให้ชาวบ้านศรีจำปาดำน้ำจนพบและอาราธนาไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีจำปา

ครั้นชาวประมงบ้านแหลมรู้ข่าวว่าชาวบ้านศรีจำปาพบพระพุทธรูปของตนที่จมน้ำ จึงยกขบวนกันมาทวงพระคืน แต่ชาวบ้านศรีจำปาไม่ยอมให้ จนเกือบจะเกิดศึกกลางวัดขึ้น แต่ด้วยอภินิหารของหลวงพ่อและการมีเหตุผลด้วยกันทั้งสองฝ่าย ก็สามารถประสานสามัคคีตกลงปรองดองกันได้ ฝ่ายชาวประมงบ้านแหลมจึงยินยอมยกพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรให้ชาวบ้านศรีจำปาไป แต่มีข้อแม้ว่าต้องเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่เป็น “วัดบ้านแหลม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ชาวบ้านแหลมได้พระพุทธรูปมาแต่แรก

ตั้งแต่นั้นมาวัดศรีจำปา จึงได้นามว่า “วัดบ้านแหลม” มาจนทุกวันนี้ และขนานนามพระพุทธรูปยืนว่า “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” ต่อมาวัดบ้านแหลมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร และได้รับพระราชทานนามว่า “วัดเพชรสมุทวรวิหาร”

-------------------------------------------------------------------------------------

ตำนานของ “หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา”
แห่งแม่น้ำเพชรบุรี
วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

กว่า 200 ปี มาแล้วที่พระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยองค์เล็ก ขนาดหน้าตักกว้างเพียง 21 นิ้ว ซึ่งลอยน้ำมาจากทางเหนือ (พร้อมพระพี่น้องอีก 4 องค์) ได้ขึ้นประดิษฐานอยู่ ณ วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นพระพุทธรูปองค์เดียวในจำนวน 5 องค์พี่น้อง ที่มีแผ่นทองคำเปลวปิดหุ้มอยู่หนามากจนแลไม่เห็นความงามตามพุทธลักษณะเดิม

ประวัติความเป็นมา

ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในประวัติของหลวงพ่อบ้านแหลม ว่า ชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรี ได้พากันมาจับปลาในทะเล ขณะที่ลากอวนอยู่นั้นได้ลากพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยติดอวนขึ้นมาองค์หนึ่ง ในระหว่างทางกลับ ก็ได้พบพระพุทธรูปยืน (หลวงพ่อบ้านแหลม) ลอยปริ่มๆ น้ำอยู่ไม่ไกลนัก จึงอาราธนาขึ้นบนเรืออีกลำหนึ่ง แต่เกิดอาเพทฝนตกหนัก ลมพายุพัดจัด เรือลำที่พระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่นั้น ทนคลื่นลมไม่ไหว จึงเอียงวูบไป พระพุทธรูปที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายไปในแม่น้ำ

ชาวบ้านแหลมพากันตกใจและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ต่างช่วยกันดำน้ำค้นหาอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่พบ จึงตกลงว่าไม่ค้นหากันต่อไปอีก จึงนำพระพุทธรูปองค์นั่งที่เหลืออยู่บนเรืออีกลำหนึ่งไปยังถิ่นของตน และนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ พ.ศ.2302 เป็นต้นมา และเรียกขานกันว่าหลวงพ่อเขาตะเครา

ชื่อใหม่ของหลวงพ่อ

หลวงพ่อเขาตะเครา ได้รับการเรียกขานนามใหม่คือ “หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา” สาเหตุมาจากมีช่างภาพคนหนึ่งต้องการถ่ายภาพหลวงพ่อ แต่ความที่องค์หลวงพ่อมีทองปิดทับอยู่หนามากจนแลไม่เห็นพุทธลักษณะเดิม ช่างภาพคนนี้จึงไปแกะทองที่ตาหลวงพ่อออกโดยมิได้บอกล่าวและขออนุญาต หลังจากนั้นไม่กี่วันช่างภาพคนนี้ก็มีอาการหูตาบวมเป่ง จึงต้องมากราบขอขมาหลวงพ่อ อาการจึงหายไป

จากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงไม่มีใครกล้าไปแตะต้องหลวงพ่อ จนกระทั่งทองปิดองค์ท่านทับถมกันมากขึ้นทุกวันๆ ชาวบ้านที่มานมัสการจึงเติมคำว่า “ทอง” ไปในการเรียกขาน จึงกลายมาเป็น “หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา”

-------------------------------------------------------------------------------------
วัดหลวงพ่อโสธร อยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมแม่น้ำบางปะกง เดิมชื่อว่า "วัดหงส์" สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นที่ประดิษฐาน "หลวงพ่อโสธร" พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง ตามประวัติเล่าว่าได้ปาฏิหาริย์ลอยน้ำมา และมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ปางสมาธิหน้าต... ดูเพิ่มเติม
วัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดสมุทรปราการ วัดนี้อยู่ริมลำคลองสำโรง ห่างจากประตูน้ำสำโรงประมาณ 13 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 40 กว่าไร่ เนื้อที่ตั้งวัดประมาณ 35 ไร่เศษ อยู่ติดกับ ตลาดน้ำโบราณบางพลี
ในอุโบสถมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่สมัยสุโขทัยปางมารวิชัยลืมเนตร หน้าตักกว้าง 3 ศอก 1 คืบ เนื้อเป็นทองสัมฤทธิ์ เป็นที่เลื่อมใสของประชาชนโดยทั่วไปนาม หลวงพ่อโต วัดนี้จึงมีชื่อว่...
ดูเพิ่มเติม
  วัดไร่ขิง หรือ วัดมงคลจินดาราม ตั้งอยู่ที่อำเภอสามพรานห่างจากกรุงเทพฯ 32 กม. มีทางเข้า 3 ทาง คือ ทางแยกหน้าสถานี ตำรวจโพธิ์แก้ว ทางแยกหน้าสวนสามพราน และทางแยกพุทธมณฑลสาย 5 วัดไร่ขิง เป็นวัดราษฎร์ สร้างเมื่อ พ.ศ.2334 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) เรียกชื่อวัดตามชื่อตำบล เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ได้อัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดศาลาปูนมาประดิษฐานไว้ที่วัดไร่ขิงด้วย ปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อวัดไร่ข... ดูเพิ่มเติม
วัดบ้านแหลม หรือ วัดเพชรสมุทรวรวิหาร ตั้งอยู่ในตัวเมือง เดิมชื่อวัดศรีจำปา เป็นวัดสำคัญที่สุดของจังหวัดสมุทรสงคราม
ตามพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขา เมื่อ พ.ศ. 2307 พม่ายกทัพเข้ามาตีเมืองเพชรบุรี แต่กองทัพของกรุงศรีอยุธยา ได้ยกทัพมาช่วยรักษาเมืองไว้ได้ ชาวบ้านแหลมในเขตเมืองเพชรบุรีได้อพยพหนีพม่ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลแม่กลอง เหนือวัดศรีจำปาขึ้นไป และเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านแหลม" ตามชื่อบ้านเดิมของตนใน...
ดูเพิ่มเติม
วัดเขาตะเครา ตั้งอยู่ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม สามารถไปได้สองทาง ทางแรกก่อนจะเข้าตัวเมืองเล็กน้อย มีถนนแยกซ้ายมือเข้าสู่วัดเขาตะเครา ระยะทาง 15 กม. อีกเส้นทางหนึ่งคือ เดินทางจาก เมืองเพชรไปบ้านแหลม แล้วขับรถต่อไปอีก 6 กม. ก็ถึงวัดเขาตะเครา ที่วัดนี้เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว เรียกกันว่า หลวงพ่อเขาตะเครา
มีชาวเมือง และนักท่องเที่ยวไปกราบไหว้ปิดทองเป็นอันม...
ดูเพิ่มเติม

กำลังเป็นที่นิยม

แนะนำทริป

จัดทริปของคุณ

ร้านอาหารใกล้เคียง