“สถานที่ที่สำหรับการเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญระดับโลก ”
เมืองโบราณทุ่งตึก หรือเมืองโบราณเหมืองทอง ตั้งอยู่บริเวณ ปากแม่น้ำตะกั่วป่า หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา แหล่งข้อมูลความเป็นมาของคนทุ่งตึก เป็นเมืองท่าการค้าข้ามมหาสมุทรบนฝั่งทะเลอันดามันที่สำคัญและสิ่งของโบราณที่ขุดพบอายุกว่า1000ปี ในพื้นที่พบหลักฐานที่เป็นสินค้านำเข้าจำนวนมาก เช่น ภาชนะแก้วหลากหลายชนิดที่ผลิตในตะวันออกกลาง ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินกึ่งอัญมณีที่ผลิตในอินเดียและตะวันออกกลาง เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง-รางวังศ์หยวน เครื่องปั้นดินเผา เคลือบสีฟ้าของเปอร์เซีย เครื่องประดับทองคำ เหรียญสำริดของอินเดีย อีกทั้งประติมากรรมในศาสนาพราหมณ์ เช่น พระคเณศ เทพีอุ้มเด็ก และหลักฐานในพุทธศาสนา เช่น พระพิมพ์ดินเผา ฯลฯ
มีซากอาคารโบราณสถานอยู่ 3 แห่ง ส่วนประกอบของศาสนสถานพราหมณ์และสัญลักษณ์ทางศาสนา โบราณสถาน ก่อด้วยอิฐขนาดยาว 60 หลา กว้าง 30 หลา สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 6 ฟุต ซึ่งโบราณสถานเหล่านี้มีเทคนิคการก่อสร้างที่ใช้แผ่นหินเป็นส่วนฐานลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่อาจเทียบได้กับโบราณสถานที่พบในชุมชนโบราณ bujang valley รัฐ Kedah ประเทศมาเลเซีย
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา ตอนพิเศษ เล่ม 52 หน้า 3694 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478
ประวัติ
โบราณวัตถุ เหล่านี้จัดได้ว่า มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 จากโบราณวัตถุที่พบ เป็นจำนวนมาก แหล่ง โบราณคดีแห่งนี้ทำให้นักโบราณคดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ดร.เอช.จี ควอริทซ์ เวลส์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษก็เคยมาขุดตรวจดูชั้นดินครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2477 และนักปราชญ์ทางโบราณคดีส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ทุ่งตึกเป็นที่ตั้งเมืองท่าโบราณซึ่งชาวอินเดีย ชาวจีน ชาวอาหรับ และชาวมลายู มาทำมาค้าขาย เพราะตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เหมาะสมในการเป็นที่จอดเรือหลบคลื่นลม มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ อยู่ใกล้ทะเลหลวงขนาดใหญ่สามารถเข้าออกสะดวก อีกทั้งตั้งอยู่ตรงปากแม่น้ำตะกั่วป่าซึ่งการคมนาคมทางเรือทั้งขึ้นและล่องตามลำแม่น้ำจะต้องผ่านเสมอ
นอกจากจะเป็นเส้นทางผ่านของเรือสินค้าหลายชนิดแล้ว ยังมีหลักฐานน่าเชื่อว่า เมื่อครั้งที่ชาวอินเดียอพยพหนีภัยลงเรือหนีมายังดินแดนทางเอเชียอาคเนย์ ได้มาขึ้นบกและตั้งหลักแหล่งที่ทุ่งตึกหรือตะกั่วป่าก่อนระยะหนึ่ง ต่อมาเมื่อถูกข้าศึกศัตรูตามรบกวนและโรคภัยไข้เจ็บรบกวน จึงได้อพยพเดินทางข้ามไปตั้งเมืองทางบริเวณริมฝั่งทะเลตะวันออก เพราะได้พบว่า ตลอดเส้นทางอพยพชาวอินเดียได้ก่อสร้างเทวสถานและรูปเคารพเอาไว้ อาทิ รูปปั้นพระนารายณ์ ซึ่งปรากฎในหลายแห่งจึงเป็นเครื่องแสดงถึงอารยธรรมอินเดียที่แพร่เข้าสู่ในเขตภูมิภาคนี้
ทุ่งตึกคงจะเจริญรุ่งเรืองอยู่ในสมัยศรีวิชัยในนามเมืองตะโกลาและตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยเป็นเวลานาน ส่วนสาเหตุการซบเซาลงไปนั้นยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด สันนิษฐานว่าคงมาจากเกิดสงครามหรือถูกศัตรูรุกรานในตอนปลายของสมัยศรีวิชัย
หลักฐานที่พบ
- ประติมากรรมเทพีและโอรส ประติมากรรมชิ้นนี้ทำจากหินปูน แต่ลวดลาย ต่าง ๆ ลบเลือนมาก เทวรูปนี้มีฐานกว้าง 60 เซนติเมตร ส่วนสูง 65 เซนติเมตร ประติมากรรม เทพี ประทับนั่งชันพระชงฆ์ซ้ายวางพระบาทซ้ายทับบนพระบาทขวา พระหัตถ์ซ้าย โอบโอรส พระหัตถ์ขวาถือลูกกลมหรือก้อนดิน หรือธรณี โอรส ประทับนั่งบนพระชงฆ์ซ้าย เทพีโดยพระบาทลงเบื้องล่าง พระหัตถ์ขวาชูเหนือ เศียร ทั้งเทพีและโอรสมุ่นมวยผมสูง ทรงสวมกรองคอพาหุรัด ส่วนกุณฑล ทรงกลม นุ่งผ้าเว้าลงใต้พระนาภี ปรากฏ ชายผ้านุ่ง ของพระบาททั้งสองข้าง
- ฐานเทวรูป เป็นฐานเทวรูปที่ทำจากหินปูน ตรงกลางจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 12 เซนติเมตร
- แท่งหินปูน เป็นแท่งหินปูนที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีขนาดกว้าง 31 เซนติเมตร สูง 55 เซนติเมตร แท่นนี้อาจจะเป็นที่สำหรับวางรูปเคารพก็ได้
- เครื่องประดับทำด้วยหิน แร่ประกอบหิน เช่น กำไล หิน จักรหิน ลูกปัดหิน
- เศษภาชนะดินเผา ก็จะมีภาชนะประเภทพื้นเมือง เช่น พวยการูปแบบตรง กลางป่องเป็นรูปวงแหวน เนื้อละเอียดและพวยกาสั้นและยาวแต่โค้งลง เนื้อมัก หยาบ และภาชนะดินเผาประเภทที่มาจากต่างประเทศ เป็นภาชนะดินเผา เคลือบสีน้ำตาล แบบฉาง-ชา (Shang - Sha) ในมณฑลโฮนาน (Honan) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และเครื่องมือเครื่องใช้โลหะ (สำริด - เหล็ก)
การเดินทาง : รถโดยสารลงที่สถานีขนส่งตะกั่วป่า ต่อรถสองแถวหรือจักรยานยนต์ รับจ้างไปยังท่าเรือบ้านน้ำเค็ม แล้วลงเรือโดยสารต่อไปยังเมืองโบราณได้