“ไหว้พระริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้อาหารนกปลารับลมเย็นริมฝั่งน้ำ เข้าไปกราบสักการะหลวงพ่อยิ้มรับฟ้า ชื่นชมสถาปัตยกรรมภายใน”
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าสร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดบางหว้าใหญ่ ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสร้างพระราชวังใกล้วัดบางหว้าใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นพระอารามหลวงและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางหว้าใหญ่ 5 ลูก จากนั้นจึงได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม” และในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “วัดระฆังโฆสิตาราม” เป็น “วัดราชคัณฑิยาราม” (คัณฑิ แปลว่าระฆัง) แต่ไม่มีคนนิยมเรียกชื่อนี้ ยังคงเรียกว่าวัดระฆังต่อมา
ภายในพระอุโบสถมี พระประธานยิ้มรับฟ้า เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 4 ศอกเศษ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก 3 องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท และเป็นพระประธานที่รัชกาลที่ 5 ตรัสว่า "ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที"
ปูชนียสถานของวัดระฆังก็คือ พระปรางค์วัดระฆัง ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระปรางค์ที่ทำถูกแบบแผนที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 พระราชทานร่วมกุศลกับสมเด็จสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระเทพสุดาวดี โดยเป็นพระปรางค์แบบ สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ยุคต้นที่มีทรวดทรงงดงาม จนยึดถือเป็นแบบฉบับของพระปรางค์ที่สร้างในยุคต่อมา
หอพระไตรปิฎกซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามมาก เคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาถวายวัด เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว โดยภายในมีตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ 2 ตู้ ประดิษฐานไว้ในหอด้านเหนือ 1 ตู้ หอด้านใต้ 1 ตู้
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หรือนามที่นิยมเรียก "สมเด็จโต" "หลวงปู่โต" หรือ "สมเด็จวัดระฆัง" เป็นพระภิกษุมหานิกาย เป็นพระมหาเถระรูปสำคัญที่ได้รับความนิยมนับถืออย่างมากในประเทศไทย ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ 4-5