“ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่”
ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ สร้างขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง คนในจังหวัดกระบี่รู้จักในชื่อว่า “ควนสนามบิน” เป็นสนามบินแบบลูกรังอยู่บนเนินเตี้ยๆหลังจากสงครามโลกสงบไม่มีการใช้งานอีก
ใน พ.ศ. 2526 ภาคเอกชนและเทศบาลเมืองกระบี่ได้ร่วมกันลงทุนก่อสร้างท่าอากาศยานกระบี่ที่ตำบลเหนือคลอง แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2529 ซึ่งบริษัทสหกลแอร์ จำกัด (บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัดในปัจจุบัน) ได้ใช้เครื่องบินแบบ BANDEIRANTE EMB110 P2 ขนาด 18 ที่นั่ง ทำการบินรับ-ส่งผู้โดยสารเส้นทางกรุงเทพฯ-กระบี่-กรุงเทพฯ เที่ยวบินปฐมฤกษ์ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2529 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากทำการบินประมาณ 3 เดือนกรมการบินพาณิชย์ได้ทำการสำรวจจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมและปรับปรุงแบบท่าอากาศยานใหม่ทั้งหมด โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา เสร็จสมบูรณ์และได้มีพิธีเปิดท่าอากาศยานอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผู้โดยสารมาใช้บริการท่าอากาศยานกระบี่ จำนวนมาก จึงได้มีการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่สอง แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2548 และได้มีการปรับปรุงขยายลานจอด เพื่อให้สามารถจอดอากาศยานได้ 4 ลำ ในเวลาเดียวกัน
เนื่องจากท่าอากาศยานกระบี่ มีปริมาณจราจรเพิ่มมากขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกที่จัดเตรียมไว้ไม่เพียงพอ กรมการบินพลเรือนจึงได้ทำการพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ โดยปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเก่าให้เป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศแยกออกไปจากอาคารผู้โดยสารที่เคยใช้อยู่ในปัจจุบันมีการติดตั้งสะพานเทียบ พร้อมทั้งจัดทำทางเชื่อมระหว่างอาคาร ขยายลานจอดอากาศยานให้สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ (B747) จำนวน 4 ลำและอากาศยานขนาดเล็ก (B737) จำนวน 6 ลำในเวลาเดียวกัน
ปัจจุบันมีสายการบินให้บริการทั้งภายในและต่างประเทศ ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในเส้นทางกรุงเทพฯ- กระบี่-กรุงเทพฯสายการบินไทยแอร์เอเชีย เส้นทางกรุงเทพฯ-กระบี่-กรุงเทพฯและกัวลาลัมเปอร์-กระบี่-กัวลาลัมเปอร์และสายการบินไทยไทเกอร์แอร์ เส้นทางสิงคโปร์-กระบี่-สิงคโปร์
ปัจจุบันท่าอากาศยานกระบี่สามารถรองรับอากาศยานขนาดสูงสุดได้ถึงโบอิ้งB747 หรือแอร์บัส A340