“วังเก่าที่พระพุทธเจ้าเคยประทับในสมัยเป็นเจ้าชายสิทธัตถุ”
ในปี พ.ศ. 2442 นักโบราณคดีได้แกะรอยแนวที่ตั้งของเสาพระเจ้าอโศก และตำนานการสร้างเมืองมาจนพบกับเมืองโบราณร้างชื่อ "ติเลาราโกต(Tilaurakot)" อยู่ในตำแหน่งที่ตรงกับกรุงกบิลพัสดุ์ตามที่ระบุในเอกสารหลายฉบับ "อยู่ทางใต้ของเชิงเขาหิมาลัย 16 กิโลเมตร สวนลุมพินีวันห่างออกไป 35 กิโลเมตร ทางตะวันออก ทางตะวันตกมีลำน้ำสาขาของแม่น้ำคงคาไหลผ่าน"
หลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดียืนยันว่ามีความเป็นเมืองโบราณตั้งแต่ก่อนพุทธกาลประมาณ 100 ปี และได้ความเจริญต่อเนื่องมาจนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 7 ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไป
กบิลพัสดุ์ แปลตามศัพท์ว่า "ที่อยู่ของกบิลดาบส"เพราะบริเวณที่ตั้งเมืองนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของดาบสชื่อ กบิล พวกเจ้าศากยะได้มาจับจองตั้งเป็นเมืองขึ้นและตั้งชื่อเมืองใหม่นี้ว่ากบิลพัสดุ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่กบิลดาบส
กบิลพัสดุ์ เป็นชื่อเมืองหลวงของแคว้นสักกะ เป็นเมืองของพระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าทรงเจริญเติบโตและประทับอยู่จนกระทั่งพระชนมายุ 29 ปี ได้เสด็จออกบวขพร้อมนายฉันทะและม้ากัณฑกะทางประตูทิศตะวันออกตามภาพแรกนี้
ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองโบราณติเลาราโกต (Tilaurakot) ประเทศเนปาล ติดชายแดนตอนเหนือประเทศอินเดีย ยังเหลือซากเมืองอยู่เป็นหลักฐาน และไม่ห่างจากเมืองนี้มีสังเวชนียสถานที่สำคัญคือสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าซึ่งเรียกว่าลุมพินีวันปรากฏอยู่ บริเวณลุมพินีมีวัดพุทธของประเทศไทยและของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาอีกหลายวัด เป็นดินแดนที่พุทธศาสนิกชนทั่วโลกนิยมไปแสวงบุญกัน ณ ที่แห่งนี้ได้รับการประกาศจากยูเนสโกให้นับเป็นมรดกโลก