“เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยง-ภูทอง ได้ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อ พ.ศ. 2520 มีเนื้อที่ประมาณ 435,320 ไร่ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอน้ำปาด กิ่งอำเภอทองแสนขัน อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอชาติตระการจังหวัดพิษณุโลก”
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพพื้นที่เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ติดต่อเป็นเทือกเขายาวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กับทิศตะวันตกเฉียงใต้มีพื้นที่ราบน้อย เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลำน้ำภาค ลำน้ำตรอน ห้วยน้ำจวง ห้วยพังงา และห้วยเนียม เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
มีภูมิอากาศเป็นปกติ ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป มีฝนตกต้องตามฤดูกาล คือจะเริ่มตกราวเดือนเมษายน และหยุดตกราวเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี ลักษณะฝนตกเป็นแบบพรำ ๆ
ชนิดป่าและพรรณไม้
สภาพป่าแบ่งเป็น 2 ชั้น ซึ่งเห็นได้ไม่เด่นชัดนัก คือ บริเวณเชิงเขาจะเป็นป่าเต็งรังผสมกับป่าเบญจพรรณ ส่วนบริเวณสันเขาจะเป็นป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา สลับกับ ทุ่งหญ้า และป่าไผ่ พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง ยาง เหียง ประดู่ ชิงชัน ตะเคียน เคี่ยมคะนอง นนทรี กะบก กะบาก แดง สมอ ก่อ พยุง หว้า มะค่า มะยมป่า มะม่วงป่า ตีนนก ลำไยป่า ติ้ว แต้ว ไทร พรรณไม้พื้นได้แก่ อ้อยช้าง ตะแบก งิ้วป่า มะขามป้อม ส้าน กระโดน พรรณไม้พื้นล่าง ได้แก่ กล้วยป่า ไผ่ หวาย ระกำ และว่านต่าง ๆ
สัตว์ป่า
สัตว์ป่าสงวนที่ปรากฏได้แก่ เลียงผา สัตว์ป่าจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ กระทิง ช้างป่า เสือโคร่ง เสือดาว เสือไฟ กวาง เก้ง กระจง หมูป่า หมาใน หมาป่า หมี แมวป่า แมวดาว อีเห็น ลิง ลิงลม ค่าง บ่าง ชนี กระรอก กระรอกบิน นาก จำพวกนกได้แก่ นกขุนทอง กาน้ำใหญ่ กาน้ำเล็ก นกกระสา นกเป็ดน้ำ ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกกะปูด นกขุนแผน นกแก้ว นกเปล้า นกโพระดก นกเงือก นกหัวขวาน นกพญาไฟ นกเขา นกเอี้ยง นกกะราง นกกางเขน สัตว์เลื้อยคลานได้แก่ เต่าปูรู เต่าเหลือง เต่าเคือย เต่าน้ำ ตะพาบน้ำ เหี้ย ตะกวด งูเหลือม งูหลาม งูจงอาง
จุดเด่นที่น่าสนใจ
มียอดเขาสูงสุดคือ ยอดภูเมี่ยงสูง 1,564 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีสภาพเป็นหน้าผา สูงชัน และยอดเขาภูทองสูง 1,249 เมตรจากระดับน้ำทะเล นอกจากนี้มีน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกตาดจวง น้ำตกห้วยทราย และน้ำตกห้วยกอย เป็นต้น
-