“วัดเหมืองปิล็อก ที่สุดชายแดนตะวันตก”
วัดเหมืองปิล็อก สร้างตามศิลปะพม่า แต่ไม่สมบูรณ์นัก วัดนี้สร้างเมื่อ ๕๐-๖๐ ปีก่อน บรรยากาศวัดปลอดโปร่งเย็นสบาย ที่ใกล้ๆ นั้นมีสถานที่สำคัญ คือ จุดประสานสัมพันธไมตรีไทย-พม่า หรือ เนินชักธง มีธงไทยปักไว้ให้รู้ว่า ที่นี่คือดินแดนไทย และมีธงพม่าปักไว้คู่กัน ตรงเส้นแดนพม่า
พระธาตุบนเขาลูกเล็ก ของวัดเหมืองปิล็อก ร่องรอยการพัฒนาวัดยังกลาดเกลื่อนไปด้วยวัตถุที่เหลือและเตรียมทำงานต่อ อุโบสถขนาดกำลังพอเหมาะกับสภาพของชุมชนที่วัดนี้ ประชากรลดลงจนเมืองแทบร้าง ลูกนิมิตตั้งกลางอุโบสถ เพื่อรอเวลาฝังตามประเพณี พระสงฆ์ ๒ รูป เณรน้อยอีก ๓ รูป คงหนาวเหน็บเมื่อฤดูหนาวมาเยือน เครื่องนอนอยู่ในสภาพที่อยากจะขอบอกบุญให้ผู้มีจิตศรัทธาไปทำบุญถวายได้เสมอ ที่ลานโล่งหน้าอุโบสถ เมื่อนักท่องเที่ยวพลัดขึ้นมาแล้วหาที่นอนค้างไม่ได้ ก็เคยมาขอกางเต็นท์นอนกันทุกปี แต่เพราะว่าอยู่สูงและโดดเด่น จึงมีลมพัดแรงกว่าจุดอื่นๆ บางรายก็ไปขอกางเต็นท์ที่ ตชด. หรือหน้าสนามโรงเรียนเหมืองปิล็อก รอบๆ บริเวณตลาด มีดอกไม้เมืองหนาวหลายชนิดให้ชมอย่างมากมาย สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปสัมผัสธรรมชาติ และมนต์เสน่ห์ของเหมืองปิล็อก
สอบถามเส้นทางได้ที่ นายทัศนัย เปิ้ลสมุทร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี โทร.๐๘-๙๕๒๙-๑๙๗๐
ข้อมูล : https://www.tumsrivichai.com