“คอกช้างเผือก คอกช้างที่คาดว่าถูกสร้างเพื่อจับช้างเผือก”
คอกช้างเผือก ตั้งอยู่ที่เชิงเขาด้านทางตะวันตกของอำเภอแม่สอด แถบชายฝั่งแม่น้ำเมย จังหวัดตาก ลักษณะเป็นกำแพงก่ออิฐก่อด้วยปูน กว้างประมาณ15เมตร สร้างขนานกันยาวประมาณ50เมตร สร้างสมัยสุโขทัย ปัจจุบันทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
เล่ากันว่าครั้งที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พงศาวดารกล่าวว่า มะกะโท (คนเลี้ยงช้าง) เป็นชาวมอญได้เข้ารับราชการเป็นขุนวัง ได้ลักพาตัวพระราชธิดาของพ่อขุนรามคำแห่งหนีไปอยู่กรุงหงสาวดี ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่าพระเจ้าฟ้ารั่ว เมืองตากเป็นชานเมืองของกรุงสุโขทัย ได้มีช้างเผือกอาละวาดพ่อขุนรามคำแหงทรงทราบ พระองค์ทรงประกอบพิธีเสี่ยงทายและทรงเสี่ยงสัตย์อธิษฐานว่า หากช้างเผือกเชือกนี้เป็นช้างคู่บุญบารมีกษัตริย์นครใดก็ขอให้บ่ายหน้าไปทางทิศนั้น สิ้นคำอธิษฐาน ช้างเผือกเปล่งเสียงร้องกึกก้องพร้อมบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตก พ่อขุนรามคำแหงทราบทันทีว่าเป็นช้างเผือกคุ่บุญบารมีของพระเจ้าฟ้ารั่ว จึงให้ทหารนำสาส์นไปแจ้งว่าจะนำช้างมามอบให้ ทหารที่ติดตามช้างเผือกมาจนถึงบริเวณเชิงเขาจึงนำเพนียดล้อมเอาไว้ และได้ทำพิธีมอบช้างให้กับพระเจ้าฟ้ารั่ว ณ ที่แห่งนี้
การเดินทาง : ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 105 ก่อนถึงตลาดริมเมยประมาณ 1 กม. เลี้ยวขวาผ่านหน้าวัดไทยวัฒนารามตามทางลาดยางประมาณ 2 กม. จะพบทางแยกซ้ายมือประมาณ 100 ม. จะพบโบราณสถานคอกช้างเผือก หรือเพนียดช้าง ทำเป็นกำแพงก่อด้วยอิฐมอญ มีความสูงประมาณ 1 ม.เศษ กว้างประมาณ 25 ม. ยาวประมาณ 80 ม.