“ศิลปะแบบพม่ามีการก่อสร้างแบบพม่า”
วัดแสนฝาง ตั้งอยู่ที่ถนนท่าแพ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าวัดนี้สร้างในสมัยใด ทราบแต่เพียงว่าเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งเท่านั้น วัดแสนฝางเป็นวัดที่มีศิลปะพม่า มีการก่อสร้างแบบพม่า พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 โปรดฯให้รื้อที่ประทับของพระเจ้ากาวิโรรสสุริวงศ์ (เจ้าชีวิตอาว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 มาสร้างเมื่อปีพ.ศ.2420 ครั้นสร้างเสร็จแล้วจึงโปรดฯให้มีการฉลองวัดแสนฝางในปี พ.ศ.2421 ตามตำนานเล่าว่าวัดแสนฝางสร้างขึ้นในสมัยพระญาแสนภู กษัตริย์ราชวงศ์มังราย ประมาณปี พ.ศ.๒๑๑๙ และคงอยู่จนกระทั่งถึงสมัยพระญากาวิละ
โดยวัดแห่งนี้ได้รับความอุปถัมภ์ด้วยดีจากเจ้านครเชียงใหม่ทุกพระองค์ ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในแผ่นจารึกไม้สักในวัด ซึ่งติดอยู่ที่หอพระไตรปิฎกว่า ชื่อวัดแสนฝางแต่เดิมเรียกกันว่า “วัดแสนฝัง” โดยที่มาของชื่อนี้ คือการที่พระเจ้าแสนภูทรงมีพระราชประสงค์จะฝากฝังขุมพระราชทรัพย์ของพระองค์ไว้กับพุทธศาสนา ตามอย่างพระเจ้าปู่และพระราชบิดา อีกทั้งพระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะฝังพระราชทรัพย์เหล่านั้นไว้ในที่รกร้างว่างเปล่าใกล้ ๆ แม่น้ำสายเล็ก ห่างจากแม่น้ำระมิงค์พอประมาณ เมื่อพระเจ้าแสนภูทรงตัดสินพระทัยสละราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสร้างวัดขึ้นเป็นการฝากพระราชศรัทธาและพระราชสมบัติของพระองค์ไว้ในพระพุทธศาสนาแล้ว สถานที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า “วัดแสนฝัง” โดยคำว่า “แสน” มาจากชื่อของพระเจ้าแสนภูและคำว่า “ฝัง” คือการบริจาคพระราชทรัพย์ของพระองค์ ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดแสนฝัง” หรือ “วัดแสนฝาง” มาตราบเท่าทุกวันนี้
โบราณวัตถุสถานและปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัดแสนฝางประกอบด้วย วิหารลายคำ 1 หลัง ซึ่งพระเจ้าอนทวิชยานนท์และเจ้าทิพเกษรราชเทวีได้โปรดให้รื้อพระตำหนักที่ประทับของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ไปปรับปรุงดัดแปลงสร้างเป็นวิหารปิดทองล่องชาดทั้งหลังและถวายวัดเมื่อ พ.ศ. 2420 ( จ.ศ. 1239 ) มีการทำบุญฉลองเมื่อ พ.ศ. 2421 วิหารหลังนี้เป็นทรงล้านนา หลังคาเตี้ยและลาดต่ำ ประดับด้วยลวดลายไม้แกะสลักและปูนปั้นปิดทอง ขนาดความยาว 49 เมตร กว้าง 12 เมตร • เจดีย์ทรงพม่า (แบบพระเจดีย์ชเวดากอง) หลักฐานกล่าวว่าพระครูบาโสณโณเถระ ได้ทำการบูรณะสร้างเสริมเจดีย์โดยทำเป็นแบบพม่า มีขนาดความกว้าง 18.7 เมตร สี่เหลี่ยมจัตุรัสสูง 49 เมตร พระอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.2453 ลักษณะรูปทรงเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนชั้นบนเป็นโครงสร้างไม้ กุฏิเจ้าอาวาส สร้างสมัยพระครูบาโสภา ( เถิ้ม ) และรองอำมาตย์เอกหลวงโยนการพิจิตร แต่ไม่ปรากฏปีสร้างที่แน่นอนคาดว่ามีอายุร่วม 100 ปี ( พ.ศ. 2539 ) ทรวดทรงและลวดลายผสมผสานกันแบบพื้นเมืองล้านนากับทางตะวันตก หน้าบันตกแต่งด้วยลวดลายทอง หอไตรหลังเก่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2412 (จ.ศ. 1231) หอไตรหลังใหม่ สร้างเมื่อ พ.ศ.2488 โดยท่านอธิการศรีหมื่น นนทวโร เป็นผู้ริเริ่ม
ปัจจุบันตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์ • ซุ้มประตูมงคลแสนมหาชัย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2518 กล่าวกันว่าที่มุมกำแพงด้านทิศ ตะวันออกมีหอคอยสูงเด่นทั้ง 2 มุม คือมุมเหนือและใต้ สำหรับเป็นที่อยู่เวรยามของตำรวจและทหาร • ศาลาการเปรียญ • กุฏิสงฆ์ จำนวน 3 หลัง • ศาลาอเนกประสงค์ • พระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน พระประธานในวิหารลายคำ เจ้าอาวาสวัดแสนฝางเท่าที่ทราบนามคือ เจ้าอธิการศรีหมื่น ฉนทวโร (พ.ศ. 2482-2511) และพระครูประจักษ์พัฒนคุณ หรือ ถนอม ฐิตายุโก (พ.ศ. 2512 )
เที่ยวได้ทุกวัน
*ข้อมูลจาก iamchiangmai.com*
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ 053-112877 , 053-112877-18
ททท. สำนักงานเชียงใหม่ (สำนักงานชั่วคราว)(เชียงใหม่,ลำพูน,ลำปาง) 053-276140-2