“เสาอินทขิล หรือเสาหลักเมืองเชียงใหม่ เป็นหลักเมืองเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่”
เสาอินทขิล เมื่อปีพ.ศ. 1839 ปัจจุบันนี้อยู่ตรงหน้าวัดเจดีย์หลวงเสาอินทขิลนี้ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็กๆหลักอินทขิลนี้สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ฝังอยู่ใต้ดินทุกปีในเดือนพฤษภาคมจะมีงานเรียกว่าเข้าอินทขิลเป็นการฉลองหลักเมือง
ตำนานเสาอินทขิล (ย่อ)
ตำนานอินทขิลหรือตำนานสุวรรณคำแดงที่พระมหาหมื่นวุฑฒิญาโณ วัดหอธรรม เชียงใหม่ เล่าความเป็นมาของเสาอินทขิลไว้ว่า บริเวณที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ศูนย์กลางอาณาจักรล้านนานั้น เป็นที่ตั้งบ้านเมืองของชาวลัวะ ในเมืองนี้มีผีหลอกหลอนทำให้ชาวเมืองเดือดร้อนไม่เป็นอันทำมาหากิน อดอยากยากจน พระอินทร์จึงได้ประทานความช่วยเหลือ บันดาลบ่อเงิน บ่อทองและบ่อแก้วไว้ในเมือง ให้เศรษฐีลัวะ 9 ตระกูล แบ่งกันดูแลบ่อทั้ง 3 บ่อละ 3 ตระกูล โดยชาวลัวะต้องถือศีลรักษาคำสัตย์ เมื่อชาวลัวะอธิษฐานสิ่งใดก็จะได้ดังสมปรารถนา ซึ่งชาวลัวะก็ปฏิบัติตามเป็นอย่างดี บรรดาชาวลัวะทั้งหลายต่างก็มีความสุขความอุดมสมบูรณ์ ข่าวความสุขความอุดมสมบูรณ์ของเวียงนพบุรี ซึ่งเป็นตระกูลของชาวลัวะเลื่องลือไปไกลและได้ชักนำให้เมืองอื่นยกทัพมาขอแบ่งปัน ชาวลัวะตกใจจึงขอให้ฤๅษีนำความไปกราบทูลพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้กุมภัณฑ์ หรือยักษ์ 2 ตน ขุดอินทขิล หรือ เสาตะปูพระอินทร์ ใส่สาแหรกเหล็กหาบไปฝังไว้กลางเวียงนพบุรี เสาอินทขิลมีฤทธิ์มากดลบันดาลให้ข้าศึกที่มากลายร่างเป็นพ่อค้า พ่อค้าเหล่านั้นต่างตั้งใจมาขอสมบัติจากบ่อทั้งสาม ชาวลัวะแนะนำให้พ่อค้าถือศีลรักษาคำสัตย์และอย่าละโมบ เมื่อขอสิ่งใดก็จะได้ พ่อค้าบางคนทำตาม บางคนไม่ทำตาม บางคนละโมบ ทำให้กุมภัณฑ์ 2 ตน ที่เฝ้าเสาอินทขิลโกรธพากันหามเสาอินทขิลกลับขึ้นสวรรค์ไป และบ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว ก็เสื่อมลง มีชาวลัวะผู้เฒ่าคนหนึ่งไปบูชาเสาอินทขิลอยู่เสมอ ทราบว่ายักษ์ทั้งสองนำเสาอินทขิลกลับสวรรค์ไปแล้ว ก็เสียใจมากจึงถือบวชนุ่งขาวห่มขาว บำเพ็ญศีลภาวนาใต้ต้นยางเป็นเวลานานถึง 3 ปี ก็มีพระเถระรูปหนึ่งทำนายว่า ต่อไปบ้านเมืองจะถึงกาลวิบัติ ชาวลัวะเกิดความกลัวจึงขอร้องให้พระเถระรูปนั้นช่วยเหลือ พระเถระบอกว่า ให้ชาวลัวะร่วมกันหล่ออ่างขางหรือกระทะขนาดใหญ่ แล้วใส่รูปปั้นต่างๆ อย่างละ 1 คู่ ปั้นรูปคนชายหญิงให้ครบร้อยเอ็ดภาษาใส่กระทะใหญ่ลงฝังในหลุมแล้วทำเสาอินทขิลไว้เบื้องบนทำพิธีสักการบูชา จะทำให้บ้านเมืองพ้นภัยพิบัติ การทำพิธีบวงสรวงสักการบูชาจึงกลายเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
เดิมมีเสาอินทขิลประดิษฐานอยู่ ณ วัดสะดือเมือง หรือวัดอินทขิล ซึ่งตั้งอยู่ ณ กลางเวียงเชียงใหม่ ปัจจุบันก็คือ บริเวณหอประชุมติโลกราช ข้างศาลากลางจังหวัดเก่า ในตำนานกล่าวว่า เสาอินทขิลเดิมนั้นหล่อด้วยโลหะ จนกระทั่งสมัยพระเจ้ากาวิละ ราวปี พ.ศ. 2343 ได้ย้ายเสาอินทขิลไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวง โดยบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เป็นเสาปูน และทำพิธีบวงสรวงเป็นประเพณีสืบกันมา ปัจจุบันนี้เสาอินทขิลที่อยู่ในวิหาร เป็นเสาปูนปั้นติดกระจกสี บนเสาเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง เสาอินทขิลนี้สูง 1.30 เมตร วัดรอบได้ 67 เมตร แท่นพระสูง 0.97 เมตร วัดโดยรอบได้ 3.40 เมตร
ประเพณีอินทขิล ในสมัยเจ้าผู้ครองนครกับปัจจุบันนี้แตกต่างกันมาก ในอดีตเจ้าผู้ครองนครจะเริ่มพิธีด้วยการเซ่นสังเวยเทพยาดาอารักษ์ ผีบ้าน ผีเมือง และบูชากุมภัณฑ์ พร้อมกับเชิญผีเจ้านายลงทรง เพื่อถามความเป็นไปของบ้านเมืองว่าจะดีจะร้ายอย่างไร ฟ้าฝนจะอุดมสมบูรณ์หรือไม่ หากคนทรงทำนายว่าบ้านเมืองชะตาไม่ดี ก็จะทำพิธีสืบชะตาเมือง เพื่อแก้ไขปัดเป่าให้เบาบางลง นอกจากนี้ยังมีการซอและการฟ้อนดาบ เป็นเครื่องสักการะถวายแด่วิญญาณบรรพบุรุษด้วย พิธีกรรมนี้ทำสืบต่อมาจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงหยุดไป ปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ดำเนินการสืบทอดประเพณีอินทขิล โดยมีพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสาน ในวันแรกของการเข้าอินทขิล มีการแห่พระเจ้าฝนแสนห่า หรือพระพุทธรูปคันธารราษฎร์รอบตัวเมือง เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำและใส่ขันดอก เพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต ส่วนภายในวิหารอินทขิล พระสงฆ์ 9 รูป จะทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์บูชาเสาอินทขิล ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินภายใต้บุษบกที่ประดิษฐานองค์พระพุทธรูป เมื่อเสร็จพิธีจะมีมหรสพสมโภชตลอดงาน
เสาอินทขิลนี้ อยู่ด้านหน้าพระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวง ก่อด้วยอิฐถือปูน และกล่าวว่า แต่เดิมอยู่ที่วัดสะดือเมือง (หรือวัดอินทขิล) ซึ่งเป็นที่ตั้งหอประชุมติโลกราชข้างศาลากลางหลังเก่า ครั้นต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละ ครองเมืองเชียงใหม่ ให้ย้ายเสาอินทขิลมาไว้ที่วัดเจดีย์หลวง และได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ พร้อมทั้งสร้างวิหารครอบไว้เมือปี พ.ศ.2343 ต่อมา วิหารอินทขิลได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา พอปี พ.ศ.2496 ครูบาขาวปี นักบุญแห่งล้านนาไทยอีกท่านหนึ่ง จึงได้สร้าง วิหารอินทขิลขึ้นใหม่ ในรูปทรงหรือสถาปัตยกรรมดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน และท่าน ยังนำเอาพระพุทธรูปปางขอฝน หรือ พระคันธารราษฎร์ประดิษฐานไว้บนเสาอินทขิลอีกด้วย เพื่อให้ชาวเมืองได้กราบไหว้บูชาคู่กับหลักเมือง
ต่อมาปี พ.ศ.2514 นางสุรางค์ เจริญบุญ ได้บริจาคทรัพย์ 100,000 บาท ทำการซ่อมแซมวิหารอินทขิลอีกครั้ง เสาอินทขิล (เสาที่พระอินทร ์ประทานให้) เป็นเสาหลักบ้านหลักเมืองคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ เป็นที่เคารพสักการะ และนับถือว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่รวม วิญญาณของชาวเมือง และบรรพบุรุษในอดีต เป็นปูชนียสถานสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ในสมัยก่อน ได้มีการทำพิธี สักการบูชา เสาอินทขิลเป็นประจำทุกปี การทำพิธีดังกล่าวมักจะทำในปลายเดือน 8 เหนือ ข้างแรมแก่ๆในวันเริ่มพิธีนั้น พวกชาวบ้านชาวเมืองทั้งเฒ่าแก่ หนุ่มสาว จะพากันนำเอาดอกไม้ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อยใส่พาน หรือภาชนะ ไปทำการ สระสรงสักการบูชา การทำพิธีดังกล่าวนี้ มักจะเริ่มทำในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 8 เหนือ (ภาคเหนือนับเดือนไวกว่าภาคกลาง 2 เดือน) เป็นประจำทุกปี จึงเรียกกันว่า เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก
กิจกรรมในประเพณีเข้าอินทขิล
พิธีบูชาเสาอินทขิล พิธีนี้กระทำโดยการจุดธูปเทียนบูชาอินทขิลกับรูปกุมภัณฑ์และฤาษี ทั้งนี้เพื่อให้บ้านเมืองอยู่สงบสุขร่มเย็น ช่วงเวลาสำหรับทำพิธีบูชาเสาอินทขิล คือ ช่วงปลายเดือน 8 ต่อต้นเดือน 9 วิหารอินทขิลจะเปิดให้ประชาชนเข้าไปสักการบูชาตั้งแต่เช้า ซึ่งจะต้องทำพิธีพลีกรรมเครื่องบูชาดังนี้
การบูชาอินทขิล
เครื่องบูชามี ข้าวตอกดอกไม้ และเทียน 8 สวย พลู 8 สวย ดอกไม้เงิน 1 ผ้าขาว 1 รำ ช่อขาว 8 ผืน มะพร้าว 2 แคนง กล้วย 2 หวี อ้อย 2 เล่ม ข้าว 4 ควัก (กระทง) แกงส้ม แกงหวาน อย่างละ 4 โภชนะอาหาร 7 อย่าง ใส่ขันบูชา
การบูชาต้นยางหลวง ในวัดเจดีย์หลวง
เครื่องบูชามี เทียน 2 คู่ พลู 2 สวย ดอกไม้ 2 สวย หมาก 2 ขด 2 ก้อม ช่อขาว 4 ผืน หม้อใหม่ 1 ใบ กล้วย 1 หวี ข้าว 4 ควัก แกงส้มแกงหวานอย่างละ 4 โภชนะอาหาร 7 อย่าง การบูชากุมภัณฑ์ 2 ตน ในวัดเจดีย์หลวง ให้แต่งหอไม้อ้อต้นละหอ เครื่องบูชามีเทียนเงิน 4 เล่ม เทียนคำ 4 เล่ม ช่อขาว 8 ผืน ช่อแดง 8 ผืน ฉัตรขาว 2 ฉัตรแดง 2 มะพร้าว 4 แคนง กล้วย 4 หวี อ้อย 4 เล่ม ไหเหล้า 4 ไห ปลาปิ้ง 4 ตัว เนื้อสุก 4 ชิ้น เนื้อดิบ 4 แกงส้มแกงหวานอย่าง 4 เบี้ย 1300 หมก 1000 ผ้าขาว 1 รำ อาสนะ 12 ที่
การบูชาช้าง 8 ตัว ที่พระเจดีย์หลวง
ช้างแต่ละตัวมีเครื่องบูชาดังนี้ เทียนเงิน 1 คู่ เทียนคำ 1 คู่ ฉัตรแดง ช่อแดง 1 มะพร้าว 1 แคนง กล้วย 1 หวี อ้อย 1 เล่ม หญ้า 1 หาบ หมาก 1 ขด 1 ก้อม พลู 1 เล่ม ข้างตอกดอกไม้แดง 7 อย่าง ใส่ขันบูชา
พิธีใส่ขันดอก
เป็นพิธีที่กระทำต่อ จากการจุดธูปเทียนบูชาอินทขิล ทางวัดจะเตรียมพานเรียงไว้เป็นจำนวนมากเพื่อให้ประชาชนนำดอกไม้ที่ตนเตรียมมาไปวาง ในพาน (ขัน) จนครบ เหมือนกับการใส่บาตรดอกไม้ การถวายดอกไม้เป็นการแสดงความเคารพบูชาแก่เสาอินทขิล กุมภัณฑ์ ฤาษี และพระรัตนตรัย
การใส่บาตรพระประจำวันเกิด
นอกจากเปิดวิหารอินทขิล จัดพาน รับดอกไม้แล้ว ทางวัดยังได้จัดเตรียมบาตร 7 ลูก วางไว้หน้าพระพุทธรูปประจำวันเกิดทั้ง 7 วัน คือ
วันอาทิตย์ พระพุทธรูปปางถวายเนตร วันจันทร์ พระพุทธรูปปางห้ามญาติ วันอังคาร พระพุทธรูปปางไสยาสน์ วันพุธ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร วันพฤหัสบดี พระพุทธรูปปางขัดสมาธิ วันศุกร์ พระพุทธรูปปางรำพึง วันเสาร์ พระพุทธรูปปางนาคปรก
พิธีสรงน้ำพระเจ้าฝนแสนห่า
พระเจ้าฝนแสนห่า คือ พระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดช่างแต้ม ซึ่งอยู่ใกล้ๆ วัดเจดีย์หลวง ชาวเชียงใหม่เชื่อว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธานุภาพบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เทศบาลนครเชียงใหม่ จึงอาราธนามาประดิษฐานบนรถแห่ไปตามถนนสำคัญ ใน เมืองให้ประชาชนสรงน้ำในวันแรม 12 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งเป็นวันเริ่มงานประเพณี หลังจากนั้นก็นำมาประดิษฐานไว้วงเวียนหน้าพระวิหารวัดเจดีย์หลวงทุกวันตลอดงานพิธีเข้าอินทขิล เพื่อให้ประชาชนที่ไปร่วมงานได้สรงน้ำระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้อย่างทั่วถึง
พิธีสืบชะตาเมือง
พิธีสืบชะตาเมืองเป็นพิธีที่กระทำหลังจากสิ้นสุดการบูชาเสาอิทขิลแล้วระยะหนึ่ง แต่ก็ยังคงอยู่ในช่วงครึ่งแรกของเดือน 9 เหนือ ประเพณีมีขึ้นเนื่องจากเมืองเชียงใหม่สร้างชื้นตามหลักโหราศาสตร์ และการเลือกชัยภูมิ ตลอดจนมหาทักษาเพื่อให้ได้ชัยภูมิ เวลา และฤกษ์ที่เป็นมงคล อันจะบันดาลให้เมืองเจริญรุ่งเรืองสืบไปอย่างไรก็ตาม เมื่อวันเวลาผ่านไปย่อมมีบางช่วงที่ดวงเมืองเบี่ยงเบน ตามลัคนา การทำบุญสืบชะตาเมือง จะช่วยให้เคราะห์ร้ายลดลงและสถานการณ์ต่างๆ กลับดีขึ้นไป การสืบชะตาของชาวล้านนาเทียบได้กับการทำบุญวันเกิด แต่มีพิธีการค่อนข้างละเอียดถี่ถ้วน โดยมีความเชื่อว่า หากกระทำแล้วจะช่วย สืบ อายุให้ยืนยาวต่อไป พิธีสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ จะกระทำในตัวเมือง 10 แห่ง คือที่กลางเวียง อันเคยเป็นสะดือเมือง ประตูทั้ง 5 ประตู และแจ่ง เวียง (มุมเมือง) ทั้ง 4 แจ่ง เมื่อมีพระบรมราชานุสรณ์สามกษัตริย์ มาประดิษฐานที่หน้าศาลากลางเก่า ตั้งแต่ พ.ศ.2526 การทำพิธีสืบชะตา ณ กลางเวียง ก็กระทำที่บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ โดยมีพระสงฆ์ 9 รูปที่เหลืออีก 9 แห่งมีพระสงฆ์แห่งละ 11 รูป รวมทั้งสิ้นเป็น 108 รูป เท่ากับ จำนวน 108 มงคลในลัทธิพราหมณ์ และเท่ากับพระพุทธคุณพระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ รวม 108 ประการ เช่นกัน พิธีสืบชะตาเมืองซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ พ.ศ.2511 นั้น จะกระทำขึ้นพร้อมๆกันทุกจุดในเวลา 07.00 นาฬิกา จะเริ่มพิธีสืบชะตาเมือง โดยเริ่มด้วยการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย สมาทานเบญจศีล พระภิกษุสงฆ์ เจริญพระพุทธมนต์แล้วแสดงธรรมเทศนา เมื่อจบแล้วจึงถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์ หลังจาก เพลมีพิธีถวายไทยทานพระสงฆ์อนุโมทนา ผู้ประกอบพิธีกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่เทพยดาอารักษ์ ตลอดจนพระ วิญญาณ พญามังราย และเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทุกพระองค์
เครดิต ตำนานข้อมูล ศูนย์สนเทศภาคเหนือ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ 053-112877 , 053-112877-18
ททท. สำนักงานเชียงใหม่ (สำนักงานชั่วคราว)(เชียงใหม่,ลำพูน,ลำปาง) 053-276140-2