“โบราณสถานสมัยอยุธยาตอนต้น สถานที่สำเร็จโทษเชื้อพระวงศ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา”
วัดโคกพระยา ตั้งอยู่ที่ ตำบลลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองศรีอยุธยาทางด้านทิศเหนือ วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีเจดีย์ทรงระฆังเป็นประธานของวัด ด้านหน้าของเจดีย์ประธานเป็นวิหาร มีกำแพงแก้วล้อมรอบวัด ป็นวัดสำคัญหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานกล่าวถึงในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ระบุในปี พ.ศ.1925 ตั้งแต่สมัยเริ่มสถาปนาพระนครศรีอยุธยาเพราะเป็นสถานที่ใช้ในการสำเร็จโทษพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์มาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระราเมศวร จากมาตราที่ 201 ของกฎมณเฑียรบาล ซึ่งตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า การสำเด็จโทษเชื้อพระวงศ์ให้กระทำที่วัดโคกพญา
จากการศึกษาทางโบราณคดีสามารถสรุปได้ว่า วัดโคกพระยานี้สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น และถูกทิ้งร้านไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2310 ต่อมาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีหลักฐานว่ามีผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่ในวัดโคกพระยาอีกครั้ง
เป็นสถานที่ที่รู้จักน้อย อยู่นอกเส้นทางหลัก แต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากมายให้ได้เยี่ยมชม ทั้งโบราณวัตถุ อย่าง เจดีย์ประธาน เจดีย์ราย เจดีย์ทรงปรางค์ วิหาร และแนวกำแพงแก้ว เป็นต้น