“ปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นกลุ่มอาคารที่ก่อสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของบารายหรืออ่างเก็บน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ”
ปราสาทสด๊กก๊อกธม จากาารสำรวจของหลวงชาญนิคมได้พบศิลาจารึกสำคัญที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม ได้แก่ จารึกสด๊กก๊อกธม 2 เป็นจารึกขนาดใหญ่มี 4 ด้านเขียนด้วยอักษรขอมโบราณ ในภาษาสันสกฤตและเขมร โดยหลวงชาญนิคมได้จัดทำสำเนาจารึกขึ้นเเละได้บันทุกไว้ว่า "อักษรโบราณนี้ได้ก๊อปปี้มาจากเสาศิลาจารึก ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าปราสาทเมืองพร้าว.. ใกล้กับเขตแดนฝรั่งเศส .. หลักศิลาจารึกนี้ตั้งอยู่ตรงหน้าปราสาท ด้านทิศเหนือ เป็นรูป 4 เหลี่ยม มีอักษร 4 ด้าน กว้างประมาณ 1 ศอก หนาประมาณ 18 นิ้ว สูงจากพื้นดินประมาณ 3 ศอก ลึกลงไปในดินประมาณเท่ากัน ขณะที่ได้พบเห็นเสาศิลาเอน ได้ความว่า ประมาณ 20 ปีมาแล้ว ฝรั่งเศสได้ให้คนขาขุด และเอาช้างฉุด เพื่อจะเอาเสาศิลานี้ไป แต่หาเอาขึ้นได้ไม่ จึงยังอยู่จนทุกวันนี้ เห็นว่าเป็นของสำคัญ จึงได้พยายามใช้กระดาษฟุสแก็ปก็อปปี้เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2463 ศิลาจารึกนี้ เข้าใจว่าเป็นอักษรขอม เเต่ให้ผู้ที่รู้ขอมอ่านก็ไม่เข้าใจ จึงไม่รู้ความว่าจะมีเรื่องราวอย่างใด"
เป็นจารึกที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1595 จารึกอักษร 4 ด้าน ด้านที่ 1 มี 60 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 77 บรรทัด ด้านที่ 3 มี 84 บรรทัด ด้านที่ 4 มี 119 บรรทัด จารึกหลักนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ 2 ในโอกาสที่ได้สร้างปราสาทสด๊กก๊อกธมนี้สำเร็จ เนื้อความในจารึกนอกจากจะกล่าวสรรเสริญพระมหากษัตริย์แล้วยังเป็นหลักฐานเกี่ยวกับประวัติอารยธรรมด้านการศาสนาที่มีกษัตริย์เป็นผู้อุปถัมภ์คุ้มครอง โดยมีพราหมณ์ปุโรหิตเป็นผู้นำทางศาสนา เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ และเป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้ากับกษัตริย์ และบันทึกประวัติการสืบสายสกุลพราหมณ์ผู้เป็นประธานในการประกอบพิธีเทวราช โดยกำหนดว่าทายาทผู้สืบทอดตำแหน่งต้องเป็นผู้ที่อยุ่ในสกุลเดียวกัน โดยถือข้างฝ่ายสตรีเป็นสำคัญ ปฐมสกุลพราหมณ์ได้แก่ แสดงอัญศิวไกวัลย์ ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ที่ได้ทรงโปรดให้มีการประกอบพิธีประดิษฐานเทวราชขึ้นเป้นครั้งแรกในอาณาจักรเขมรโบราณ
โบราณสถานแห่งนี้ประกอบด้วยองค์ปราสาท 3 หลัง มีกำแพงศิลา 2 ชั้น คูน้ำล้อมรอบชั้นในยังหลงเหลือโคปุระหรือซุ้มประตู
ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีวิหารคด บรรณาลัย 2 หลัง และมีปราสาทหลังกลาง เป็นปรางค์ประธาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15 ปราสาทสด๊กก๊อกธมสร้างขึ้นเพื่อใช้ประดิษฐานรูปเคารพ และใช้ประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อในลัทธิศาสนาฮินดู นอกจากนี้ยังพบศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม 2 หลักศิลาจารึกสด๊กก๊อกธมเก็บรักษาไว้ที่ หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
ที่ปราสาทด้านขวามีสิ่งที่น่าสนใจคือ หน้าบันที่มีลวดลาย จำหลักเป็นรูปพระโพธิสัตว์ ประทับนั่งเหนือเกียรติมุข ที่เชิงชายเป็นรูปนาคปรก ซุ้มประตู ทางเข้าด้านหน้ามีขนาดใหญ่เกือบเท่าซุ้มประตูทางเข้าที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ส่วนปราสาทด้านซ้ายและปราสาทองค์ประธานอยู่ในสภาพที่ปรักหักพังห่างจากกำแพงด้านนอกเล็กน้อยทางทิศตะวันออกจะพบสระน้ำขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 200 เมตรยาวประมาณ 300 เมตร
การเดินทาง:
จากอำเภออรัญประเทศใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 348 ไปทางอำเภอตาพระยา ผ่านที่ว่าการอำเภอโคกสูงไปประมาณ 3.5 กิโลเมตร ซ้ายมือจะเป็น องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง เลยไปจะมีทางแยกมีป้ายบอกไปปราสาทสด๊กก๊อกธม ให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวงชนบท สก 3018 ผ่านบ้านสุขสำราญไปประมาณ 7 กิโลเมตร ถึงสามแยกบ้านหนองเสม็ดให้เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตรตามทางราดยางไปเรื่อยๆ ไปตามป้าย จะพบเส้นทางเข้าปราสาททางขวาให้เลี้ยวไปอีก 2.5 กิโลเมตร ถึงปราสาทสด๊กก๊อกธม