“ชมปราสาททามจาม อายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 16”
ปราสาทตำหนักไทร หรือ ปราสาทขุนหาญ ตั้งอยู่ที่ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นปราสาทขนาดเล็ก มีลักษณะปรางค์เดี่ยวรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวปรางค์ก่อด้วยอิฐ ส่วนกรอบประตูและทับหลังทำด้วยหินทราย บริเวณทางเข้ามีสิงห์จำหลักสองตัวเหนือประตูทางเข้ามีทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16
กล่าวถึงเรื่องราวของพรานป่า ซึ่งได้ฆ่างูแล้วตัดเขี้ยวงูมาถวายพระเจ้าแผ่นดิน จึงต้องสร้างปราสาทตำหนักไทร ไว้เก็บเขี้ยวงูมิฉะนั้นจะเกิดอาเพศ เรื่องมีอยู่ว่า นานมาแล้วพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งทรงครองเมืองตั้งอยู่ที่บ้านดอนข่า (ต.พราน อ.ขุนหาญ) มีพระประสงค์จะเสวยเนื้อ จึงได้ทรงเกณฑ์พรานหาเนื้อมาถวาย โดยผลัดเปลี่ยนเวรกันไปเป็นรอบๆละ 7 วัน พรานคนหนึ่งอยู่บ้านพราน (ต.พราน อ.ขุนหาญ) รับเวรออกล่าสัตว์เกือบครบกำหนดจะ 7 วันแล้ว ก็ยังหาเนื้อไปถวายไม่ได้ ซึ่งหากหาเนื้อไปไม่ได้จะถูกประหารชีวิต พอถึงวันที่ 7 พรานได้มาพบงูใหญ่ตัวหนึ่งจึงตัดสินใจยิงงู แต่งูยังไม่ทันตาย จึงวิ่งไล่นายพรานจนมาถึงหนองน้ำแห่งหนึ่ง งูตามมาทันและกัดนายพรานตาย พวกบรรดาเหลือบริ้นยุงก็ได้กัดดูดเลือดนายพรานกิน จนพิษงูหมด นายพรานจึงฟื้นขึ้นมา และเดินตามรอยงูไปถึงถ้ำพระพุทธ ซึ่งอยู่เชิงเขาพนมดงเร็ก และตัดเขี้ยวงูไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน ต่อมาบ้านเมืองเกิดความเดือดร้อน โหรจึงทำนายว่าจะต้องสร้างปราสาทไว้เก็บเขี้ยวงู พระราชาจึงสร้างปราสาทตำหนักไทรขึ้น
หนองน้ำที่นายพรานถูกงูไล่จึงเรียกว่าหนองสิ ซึ่งแปลว่า เหลือบ ริ้น ยุง ปัจจุบันหนองน้ำนี้อยู่ข้างอ.ขุนหาญ ถ้ำพระพุทธอยู่เชิงเขาพนมดงเร็กชายแดนไทย - กัมพูชา รอยงูที่ไล่นายพรานแล้วเลื้อยกลับไปยังถ้ำพระพุทธนั้น ปัจจุบันเป็นรอยคดเคี้ยวไปมาจนถึงถ้ำพระพุทธ แนวทางนั้นกว้างประมาณ 1 วา ปรากฏให้เห็นเป็นแห่งๆไป ตลอกแนวไม่มีต้นหญ้าสูงขึ้นเลย ส่วนบ้านดอนข่าในปัจจุบันอยู่ที่ ต.บ้านพราน อ.ขุนหาญ เดิมชื่อว่าบ้านออรอง เป็นภาษาเขมร แปลว่าบ้านพระเจ้าแผ่นดินใจดี สำหรับบ้านพรานเดิมชื่อภาษาเขมรว่า ซอกเปรียน แปลว่า บ้านของนายพราน (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 : หน้า 161)