“ เจดีย์วัดพระหลวง (พระธาตุเนิ้ง) เป็นวัดที่มีความเก่าแก่ สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ”
วัดพระหลวงธาตุเนิ้ง เป็นวัดที่มีความเก่าแก่ไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด จากการนำตัวอย่างวัสดุที่ขุดจากบริเวณใกล้ๆ กับเจดีย์ภายในวัด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 พร้อมกับชุมชนที่อยู่รอบๆ วัด จนปี พ.ศ.2330 มีกลุ่มชนไทลื้อพร้อมทั้งพระภิกษุ สามเณรได้อพยพมาจากเชียงแสน มาหักร้างถางป่าสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้ และช่วยกันบูรณวัดขึ้นใหม่ และตั้งชื่อว่า "วัดพระหลวง"
ตัวอย่างแหล่งมรดกภายในวัด
เจดีย์วัดพระหลวง (พระธาตุเนิ้ง) : องค์เจดีย์ก่อสร้างด้วยอิฐทรงปราสาท สถาปัตยกรรมแบบล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ 22
หอระฆัง : ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นอาคารที่มีแผนผังเป็นรูปแปดเหลี่ยมทรงสูง เสาก่อด้วยอิฐฉาบปูน 4 ต้น ตั้งอยู่บนฐาน 8 เหลี่ยมก่อด้วยอิฐฉาบปูน โครงสร้างส่วนบนเป็นเครื่องไม้ หลังคาทรงจั่ว
หอไตร : เป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองผสมกับศิลปะรัตนโกสินทร์ หลังคาทรง หน้าจั่วผสมปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์หรือกระเบื้องหางว่าว ด้านประดับลวดลายแกะสลักไม้เป็นรูปเครือเถาติดกระจกสี ช่อฟ้าเป็นรูปหงส์ใบระกาเป็นไม้แผ่นเดียว แกะสลักเป็นนาคลำยอง เก็บรักษาคัมภีร์ใบลานที่เก่าแก่ ซึ่งถือว่าเป็นมรดกทางวรรณกรรมที่มีค่าทั้งหมด 21 หมวด
พิพิธภัณฑ์วัดพระหลวง : ป็นโบราณสถานและชุมชนที่เก่าแก่ มีศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ตกทอด มาจากบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเชียงเสน
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ : เป็นบ่อที่ขุดขึ้นเพื่อใช้อุปโภคบริโภค บ่อลึกประมาณ 5 เมตร มีน้ำใสรสจืด ไม่กร่อย มีน้ำตลอดปีไม่เคยแห้งขาด เมื่อก่อนใช้เกี่ยวกับการหล่อพระ
ประวัติวัดพระหลวงธาตุเนิ้ง
ตำนานวัดพระหลวงเรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2509 เจ้าอาวาสรูปที่ 13 ได้กล่าวว่า แต่เดิมหมู่บ้านและวัดพระหลวงแห่งนี้ เคยเป็นป่าใหญ่ดงหลวงมาก่อน มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นหนาทึบ มีสัตว์ป่าชุกชุม ในจำนวนนั้นก็มีงูใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง จะคอยจับสัตว์ต่าง ๆ กินเป็นอาหาร แม้แต่สัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน หากพลัดหลงเข้าไปก็จะถูกงูกัดกิน พวกพ่อค้าชาวฮ่อ (จีนฮ่อ) นำสินค้าบรรทุกหลังม้ามาขายโดยปล่อยม้าให้เที่ยวหากินบริเวณใกล้เคียง ม้าบางตัวที่ล่วงล้ำเข้าไปในดงหลวงก็จะถูกงูใหญ่รัดกินเป็นอาหาร เมื่อเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง พ่อค้าชาวจีนฮ่อโกรธเป็นอย่างมาก จึงช่วยกันหาวิธีกำจัดงูนั้นเสีย โดยช่วยกันตัดไม้ไผ่มาผ่า แล้วเหลาเอาผิวไม้มาสานขัดแตะเป็นตาแสง 6 เหลี่ยม ซึ่งชาวเมืองเหนือเรียกว่า “ตาแหลว” กะให้รูบ่วงตาแหลวมีขนาดกว้างพอ ๆ กับขนาดขนาดตัวงู แล้วนำไปปิดปากรู ตอกหลักยึดเงื่อนตาแหลวไว้ให้ตรึงแน่นหนา รุ่งขึ้นอีกวันก็พากันมาดูพบว่างูใหญ่ติดบ่วงตาแหลวงอยู่ จึงช่วยกันฆ่างูนั้นเสีย แล้วตัดซากงูออกเป็นท่อน ๆ กองไว้ใกล้ ๆ รูงูนั้น หลังจากวันนั้นพ่อค้าชาวจีนฮ่อก็นำสินค้าไปขายตามปกติ ครั้นเมื่อขายสินค้าหมดก็เดินทางกลับ และพากันไปดูซากงูที่กองไว้ ปรากฏว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง เพราะซากงูกลายเป็นท่อนเงินท่อนทอง จึงแบ่งท่อนเงินท่อนทองนั้นออกเป็น 3 ส่วน พวกพ่อค้าเอาไป 1 ส่วน นำไปถวายเจ้าฟ้า (เจ้าเมือง) 1 ส่วน และฝังไว้บริเวณรูงูนั้น 1 ส่วน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแพร่ 054-646205
ททท.สำนักงานแพร่(รับผิดชอบแพร่ น่าน อุตรดิตถ์) 054-521127,054-521118-9
ททท.Call Center 1672