“ชมความเป็นมาของพระธาตุกลางน้ำ”
พระธาตุหนองคาย หรือ พระธาตุกลางน้ำ เดิมชื่อพระธาตุหล้าหนอง เป็นพระธาตุที่หักพังอยู่กลางลำน้ำโขง ห่างจากชายฝั่งปัจจุบันประมาณ 180 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุฝ่าพระบาทเก้าพระองค์ตามตำนานอุรังคธาตุ (พระพนม) จากการสำรวจใต้น้ำของหน่วยโบราณคดีภาค 7 พบว่าองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 17.2 เมตร ย่อมุมที่ฐาน และมีความสูงประมาณ 28.5 เมตร หักออกเป็น 3 ท่อน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 20–22 เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายพระธาตุบังพวนมากที่สุด หนังสือประชุมพงศาวดารภาค 70 บันทึกไว้ว่า “พระธาตุเมืองหนองคายได้เพ (พัง) เมื่อวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ปีพุทธศักราช 2390” และตลิ่งได้ถูกน้ำเซาะจนมองเห็นพระธาตุอยู่เกือบกึ่งกลางลำน้ำโขงในปัจจุบัน
พระธาตุหนองคายยังคงเป็นที่เคารพสักการะของชาวหนองคาย ชาวบ้านได้จัดงานประเพณีเกี่ยวกับพระธาตุทุกปี นอกจากนี้ทางจังหวัดหนองคายได้ก่อสร้างพระธาตุหล้าหนององค์จำลองสูง 15 เมตรขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยบรรจุชิ้นส่วนพระธาตุองค์จริงอยู่ภายใน