“วัดเก่าแก่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย ปัจจุบันคงเหลือแต่ซากปรักหักพัง”
วัดหลง เป็นโบราณสถานที่สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีแห่งหนึ่ง มีลักษณะทรวดทรงเป็นสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัย ปัจจุบันเป็นวัดร้างเหลือแต่เจดีย์
สถานที่ตั้งเจดีย์วัดหลง ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบ มีถนนตัดผ่าน ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน ตั้งอยู่ที่ตำบลตลาดไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทิศใต้ของวัดประมาณ ๘๖ เมตร มีคลองไชยาไหลผ่านไปสู่อ่าวไทยทางด้านตะวันออกของวัด ทิศตะวันตกติดต่อกับโรงเรียนไชยาวิทยา ห่างจากที่ว่าการอำเภอไชยาประมาณ ๑,๓๗๙ เมตร
ประวัติความเป็นมา
วัดหลงเป็นวัดเก่าแก่ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าเจดีย์ของวัดนี้สร้างร่วมสมัยกับพระเจดีย์วัดพระบรมธาตุไชยา คือประมาณระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ เป็นเจดีย์ที่ชำรุดทิ้งร้างมานานเหลือแต่ซากอิฐและฐานราก กรมศิลปากรได้ประกาศให้เป็นโบราณสถานสำหรับชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ต่อมากองโบราณคดี กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและบูรณะ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๒๗ใช้งบประมาณในการบูรณะรวมทั้งสิ้น ๑,๖๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งการขุดแต่งนั้นได้กระทำอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะไม่เหมือนโบราณสถานอื่นๆ การขุดแต่งเจดีย์วัดหลงก็เพื่อหาหลักฐานทางสถาปัตยกรรมประวัติศาสตร์ และโบราณคดี
ลักษณะทั่วไป
เจดีย์วัดหลงเดิมปกคลุมด้วยดินและต้นไม้ใหญ่ ๆ หนาทึบ เมื่อกรมศิลปากรได้ขุดแต่ง และได้พิจารณารูปทรงเห็นว่าเป็นโบราณสถานสถาปัตยกรรมศรีวิชัย สมัยเดียวกับวัดแก้ว ลักษณะของเจดีย์เป็สถาปัตยกรรมแบบก่ออิฐไม่ถือปูน ฐานเป็นรูปกากบาท มีซุ้มทั้งสี่ทิศ มีประตูเข้าสู่ห้องกลางทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียวที่ห้องกลางก่ออิฐเป็นผนังกรุทั้ง ๔ ด้าน ตรงทางด้านทิศตามแนวทิศทั้งสี่ ผนังกรุด้านทิศตะวันออกกว้าง ๓.๕๐ เมตร ผนังกรุด้านทิศตะวันตกกว้าง ๓.๔๙ เมตร ผนังกรุด้านทิศเหนือ กว้าง ๓.๔๖ เมตร และผนังกรุด้านทิศใต้กว้าง ๓.๕๐ เมตร มีความลึกจากระดับพื้น ปูอิฐตอนบนถึงระดับอิฐปูพื้นล่างสุดโดยเฉลี่ยประมาณ ๒.๕๙ เมตร ภายในห้องกลางพบแต่เศษกระเบื้องดินเผา
หลักฐานที่พบ
ในการขุดค้นทางวิชาการของกรมศิลปากร พบแต่เพียงเศษกระเบื้องดินเผาในห้องกลาง แต่มีไม่มาก แต่บริเวณฐานและบริเวณภายนอกใกล้กับกำแพงกั้นดิน พบศิลปโบราณวัตถุจำนวนมากได้แก่
- สถูปดินดิบ ๑ องค์อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔
- พระพุทธรูปดินดิบปางสมาธิ ขัดสมาธิเพชร อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔
- พระพิมพ์ดินดิบ (ชำรุด) ๒๕ ชิ้น และที่สมบูรณ์ ๓ องค์
- กระปุกสมัยสุโขทัยภายในบรรจุกระดูกที่เผาแล้ว จำนวน ๙ ใบ
- กระปุกสมัยราชวงศ์ซ้อง จำนวน ๑ ใบ และแบบพื้นเมืองจำนวน ๑ ใบ
- กระปุกสมัยราชวงศ์เหม็ง จำนวน ๒๗ ใบ
- แจกันสมัยราชวงศ์เช็ง จำนวน ๑ คู่
- ชิ้นส่วนหินบด จำนวน ๔ ท่อน
โบราณวัตถุทั้ง 8 รายการ ปัจจุบันแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
การเดินทางไปเจดีย์วัดหลง
ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 41 โดยรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์จากสี่แยกโมถ่าย - ตลาดไชยา ประมาณ 3 กิโลเมตร หรือ โดยสารรถไฟลงสถานีไชยา และโดยสารรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ประมาณ 1 กิโลเมตร