“วัดไตรมิตร ตราประจำวัด คือ ภาพเทวดา ๓ องค์ นั่งประชุมกันบนบัลลังค์เมฆ ชมพระพุทธรูปทองคำ ที่ใหญ่ที่สุด”
วัดไตรมิตร ผู้คนนิยมไปสักการะพระพุทธรูปทองคำกัน ตอนนี้ทางวัดได้สร้างพระมหามณฑปหลังใหม่สวยงามโอ่อ่าสำหรับประดิษฐานองค์พระ ที่สำคัญด้านในยังมีพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าความเป็นมาทั้งของพระทองคำและชุมชนชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในย่านเยาวราชนี้ มาไหว้พระชื่นใจแล้วยังได้มาชื่นชมกับพิพิธภัณฑ์ดี ๆ อีกแห่งของเมืองกรุง โดยเฉพาะใครที่มีเชื้อสายจีนต้องบอกว่าไม่ควรพลาดมาชมกัน วัดไตรมิตรวิทยาราม มีเนื้อที่ของวัดทั้งสิ้น 14 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา
วัดไตรมิตร นั้นเป็นวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “วัดสามจีน” ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเพื่อความเป็นสิริมงคล เป็น วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร วัดไตรมิตรมีฐานะเป็นพระอารามหลวง นอกจากนี้ด้านหลังก็ยังมีโรงเรียนวัดไตรมิตร ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีด้วย
ตราประจำวัด คือ ภาพเทวดา ๓ องค์ นั่งประชุมกันบนบัลลังค์เมฆ พื้นหลังสีดำ ด้านนอกขอบทอง ด้านบนมีพุทธสุภาษิตประจำวัดคือ " อติโรจติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก " แปลว่า "สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมเจริญรุ่งเรืองด้วยปัญญา" และด้านล่างคือชื่อวัด
ในปีพุทธศักราช 2477 พระมหากิ๊ม สุวรรณชาต ผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาสเป็นผู้ริเริ่มปรับปรุงวัด ต่อมาในปีพุทธศักราช 2480 ได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้ปรับปรุงสภาพวัดให้ดีขึ้น ปีพุทธศักราช 2482 พ่อค้าประชาชน คณะครูและนักเรียน ได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนนามใหม่ เป็นชื่อ วัดไตรมิตรวิทยาราม ซึ่งมีความหมายว่า เพื่อน 3 คนร่วมกันสร้างวัดนี้ ประกอบกับวัดเป็นที่ตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมและโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัยของรัฐบาลอยู่ภายในบริเวณของวัด
พระสุโขทัยไตรมิตรสิ่งสำคัญของวัด คือ พระสุโขทัยไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุด และได้รับการบันทึกในหนังสือกินเนสบุ๊คออฟเรคคอดร์ พระพุทธรูปทองคำองค์นี้มีหน้าตั้งกว้าง 3.01 เมตร สูง 3.91 เมตร องค์พระสามารถถอดได้ 9 องค์ จากฐานองค์พระขึ้นไปเนื้อทองบริสุทธิ์ 40 %พระพักตร์มีเนื้อทอง 80 % ส่วนพระเกศมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัม เป็นเนื้อทองบริสุทธิ 99.99 %
สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย เข้าใจว่า เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ไปอันเชิญ พระพุทธรูปมาจากเมืองเหนือเพื่อนำมาประดิษฐานยังวัดสำคัญ พระพุทธรูปที่เชิญมามีจำนวนมาก ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ขุนนางผู้หนึ่งจึงแอบเอาปูนไล้พระพุทธรูปทองคำแล้วนำมาไว้ยังวัดที่ตนสร้าง จนได้อันเชิญมาไว้ที่วัดพระยาไกร (วัดโชติการาม) ต่อมาบริษัทอิสท์เอเซียติกได้ขอเช่าที่วัด (ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้างแล้ว) เป็นโรงเลื่อยจักร จึงได้อันเชิญไว้ที่ข้างพระเจดีย์และปลูกเพิงสังกะสีมุงเป็นหลังคากั้นไว้ อย่างหยาบ ๆ หลังจากนั้นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เมื่อพระอุโบสถและพระวิหารหลังใหม่สร้างเสร็จ จึงได้อัญเชิญชั้นประดิษฐาน แต่ในระหว่างการเคลื่อนย้ายปูนที่หุ้มองค์พระกะเทาะออก จึงทำให้เห็นองค์พระข้างในเป็นทองคำ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498
- สามารถไปไหว้พระทำบุญได้ทุกเมื่อ
- พื้้นที่จอดรถได้ ภายในวัด (มีพื้นที่จำกัด), รถทัวร์จอดนอกวัด