“พิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชน จัดแสดงศิลปวัตถุจากอาณาจักรล้านนา สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ รวบรวมศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน สมุดไทย ตำราโบราณมาจัดแสดงที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมานในฐานะหอพระสมุดวชิรญาณ”
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร แต่เดิมตั้งอยู่ ณ ที่ หอคองคอเดียหรือศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมิวเซียมหลวงมาตั้งที่พระราชวังบวรสถานมงคล เปิดเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชน โดยใช้พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิฉัย เป็นที่จัดแสดงเมื่อปีพุทธศักราช 2430
ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ เหลือน้อยพระองค์ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรฯ เข้าไปประทับในพระบรมมหาราชวัง และพระราชทานพระมหามณเฑียร ณ ขณะนั้นให้เป็นโรงทหาร จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดฯ ให้ย้ายโรงทหารไปอยู่ที่วังจันทรเกษม (บริเวณกระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน) ส่วนพระราชมณเฑียรของพระราชวังบวรฯ ทั้งหมดจัดเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครและหอสมุดพระวชิรญาณเพื่อจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2469
ต่อมา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2469 พพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลทั้งหมด จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร ทั้งรวบรวมศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน สมุดไทย ตำราโบราณมาจัดแสดงที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมานในฐานะหอพระสมุดวชิรญาณ และภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลจึงประกาศให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร สังกัดกรมศิลปากร เมื่อปี พุทธศักราช 2476
ห้องจัดแสดงนิทรรศการ นำเสนอเนื้อหา 4 เรื่องของประเทศไทย คือ ประวัติศาสตร์ศิลปกรรม ศิลปะไทยประเพณี ประวัติศาสตร์โบราณคดี และพระราชวังบวรสถานมงคล
- นิทรรศการประวัติศาสตร์ศิลปกรรม
จัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นเอก ภายใต้ชื่อ "แผ่นดินไทยในอดีต"
- นิทรรศการศิลปะไทยประเพณี
เป็นอาคารดูแลรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นเครื่องใช้ในพระราชสำนัก พระราชวัง วัง และวัดต่างๆ
- นิทรรศการประวัติศาสตร์โบราณคดี
จัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย โดยลำดับตามยุคสมัยทางโบราณคดี
- พระราชวังบวรสถานมงคล
จัดแสดงเรื่องราวของพระราชวังบวรสถานมงคลภายในหมู่วิมาน อันเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับ และสถานปัตยกรรมในบริเวณพระราชวัง
อัตราค่าเข้าชม:
- คนไทย 30 บาท
- ชาวต่างชาติ 200 บาท
ยกเว้นค่าเข้าชม: เด็ก / นักเรียน / ผู้สูงอายุ(60ปีขึ้นไป) / พระสงฆ์ / สมาชิก ICOM และ ICOMOS (แสดงบัตร)