“สะพานพระราม 8 เป็น สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 13 มีแนวสายทางเชื่อมต่อกับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณโรงงานสุราบางยี่ขัน เขตบางพลัด บรรจบกับปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์”
สวนหลวงพระราม 8 ใต้ สะพานพระราม 8 (Rama VIII Bridge) อยู่ฝั่งบางพลัด ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างธนาคารแห่งประเทศไทย ฝั่งพระนคร มีขนาดพื้นที่ประมาณ 35 ไร่ ความยาว 500 เมตร อยู่บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งทิศตะวันตก เป็นสวนสาธารณธะริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีบรรยากาศร่มรื่น สามารถมองเห็นสิ่งก่อสร้างสำคัญทางประวัติศาสตร์ได้หลายแห่ง เช่น ป้อมพระสุเมรุ, วังบางขุนพรหม, ยอดอาคารโดมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอยู่ฝั่งพระนคร และสะพานพระปิ่นเกล้า ได้อย่างชัดเจน
ในบริเวณมี พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) สูงขนาด 3 เท่าของพระองค์จริง คือ ประมาณ 5.4 เมตร พระอิริยาบถทรงยืน ประดิษฐานบนแท่นที่ความสูงระดับเดียวกันกับราวสะพาน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่สวนแห่งนี้ด้วย นอกจากนั้น บริเวณอาคารเฉลิมพระเกียรติข้างใต้พระบรมราชานุสาวรีย์ยังจัดให้มีห้องรวบรวมพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจขององค์รัชกาลที่ 8 เพื่อให้ประชาชนที่สนใจพระราชประวัติเข้าไปศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์
สวนหลวงพระราม 8 เกิดขึ้นมาพร้อมกับสะพานพระราม 8 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และเปิดให้ใช้ได้ในปี พ.ศ. 2545 อันเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรภายในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ ให้ระบายจากฝั่งพระนครออกสู่ฝั่งธนบุรีให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
พื้นที่นันทนาการริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ดาดแข็งตลอดแนวเพื่อรองรับการใช้งานจากคนจำนวนมากรวมทั้งยังเป็นเขื่อนป้องกันน้ำท่วมที่สามารถใช้งานได้ในหลากหลายลักษณะ เช่น เดิน วิ่ง หรือนั่งเล่น จัดกิจกรรมในงานเทศกาล จัดงานแสดงต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับน้ำโดยตรง เช่น การชมขบวนเรือพระราชพิธี ซึ่งประกอบด้วย ศาลาพักผ่อน และท่าเทียบเรือ
พื้นที่นันทนาการสาธารณะ แบ่งเป็นพื้นที่สวนสาธารณะติดกับคลองบางยี่ขันและพื้นที่สวนสาธารณะติดกับพื้นที่ใต้สะพานพระราม 8 โดยมีอาคารพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นส่วนกั้น แต่สามารถเชื่อมต่อกันได้ด้วยการเดิน ใช้เป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา รวมทั้งสามารถใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมการแสดงต่าง ๆ ด้วย
สะพานพระราม 8 ลักษณะโดยทั่วไป สะพานพระราม 8 มีความยาวรวม 475 เมตร สูงเท่าสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และความลาดชันไม่เกิน 3% เป็นสะพานหลักช่วงข้ามแม่น้ำ 300 เมตร สะพานยึดช่วงบนบก 100 เมตร และสะพานช่วงโครงสร้างยึดเสา 75 เมตรมีรูปแบบโดดเด่นสวยงามเพราะได้ออกแบบเป็นสะพานขึงแบบอสมมาตรซึ่งหมายความว่ามีเสาสะพานหลักเสาเดียวบนฝั่งธนบุรี และมีเสารับน้ำหนัก 1 ต้นบนฝั่งพระนคร จึงไม่มีเสารับน้ำหนักตั้งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ไม่มีปัญหาต่อการสัญจรทางน้ำ ช่วยป้องกันน้ำท่วมและระบบนิเวศวิทยาในน้ำ รวมทั้งไม่กระทบต่อการจัดตั้งกระบวนพยุหยาตราชลมารค
การรับน้ำหนักของสะพาน ได้ติดตั้งสายเคเบิลระนาบคู่ 28 คู่ขึงยึดพื้นช่วงข้ามแม่น้ำ และใช้สายเคเบิลระนาบเดี่ยว 28 เส้น ขึงยึดรั้งกับโครงสร้างยึดเสาสะพานบนฝั่งธนบุรี เคเบิลแต่ละเส้นประกอบด้วยสลิงตั้งแต่ 11-65 เส้น เมื่อเกิดปัญหากับเคเบิล สามารถขึงหรือหย่อนได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องปิดการจราจรเหมือนสะพานพระราม 9 เนื่องจากเคเบิลแต่ละเส้นใช้สลิง ภายในซึ่งเป็นขดลวดใหญ่ทำให้ดูแลบำรุงรักษาและซ่อมแซมยากกว่า อีกทั้งสายเคเบิลของสะพานพระราม 8 ยังมีสีเหลืองทอง สีประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อสะท้อนแสงจะส่องประกายสวยงาม โดยเฉพาะยามค่ำคืน
ด้านมาตรฐานความปลอดภัยได้ทดสอบแรงดึงในลวดสลิง 1 ล้านครั้ง โดยใช้แรงดึงปกติ 10 ตัน ไม่มีปัญหา และต้องใช้แรงดึงถึง 27 ตัน ลวดสลิงถึงขาดแต่ก็แค่ 1% เท่านั้น นอกจากนี้ได้มีการทดสอบแรงลม แรงสั่นสะเทือน ทิศทางลม รวมทั้งติดตั้งเครื่องวัดไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น สะพานพระราม 8 เป็นสะพานขึงแบบอสมมาตรที่ติดอันดับ 5 ของโลก รองจากประเทศเยอรมนีซึ่งติดอันดับถึง 3 สะพาน และประเทศเนปาล โดยนับจากความยาวช่วงของสะพานส่วนสะพานพระราม 9 ซึ่งเป็นสะพานขึงตัวแรกแต่เป็นแบบสมมาตร
การเดินทาง รถเมล์สาย 57, 19 , 81
รีวิวทั้งหมด
(รีวิว 7 รายการ)รีวิวเมื่อ 6 ก.พ. 55
รีวิวเมื่อ 17 ก.ค. 53
รีวิวเมื่อ 17 ก.ค. 53
รีวิวเมื่อ 17 ก.ค. 53
รีวิวเมื่อ 17 ก.ค. 53
รีวิวเมื่อ 17 ก.ค. 53
รีวิวเมื่อ 17 ก.ค. 53