“เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง มีพระอุโบสถที่รูปทรงสวยงามเป็นเอกลักษณ์”
วัดแจ้ง ตั้งอยู่ที่ถนนสรรพสิทธิ์ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2431 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โดยการดำริของเจ้าราชบุตร (หนูคำ) หนึ่งในคณะอาญาสี่ผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีในสมัยนั้น
โบราณสถานที่สำคัญ คือ
พระอุโบสถที่สร้างเสร็จ ในราวปีพ.ศ. 2455 หรือหลังจากการตั้งวัด 24 ปี โดยญาท่านเพ็ง ได้รับการยกย่องว่ารูปทรงสวยงาม และมีงานจำหลักไม้ที่มีฝีมือแบบพื้นฐานโดยแท้ ซึ่งนับวันจะหาดูเป็นตัวอย่างศึกษาได้ยาก เป็นอุโบสถขนาดไม่ใหญ่นัก กว้างประมาณ 6 เมตร ยาว 15 เมตร สูง 10 เมตร ฐานเตี้ยหลังคาชั้นเดียวเดิมมุงด้วยกระเบื้องไม้ ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา มีบันไดอยู่ด้านหน้าราวบันไดเป็นรูปจระเข้หมอบ ส่วนหน้าบันหน้า อุดปีกนกและรวงผึ้ง สลักไม้เป็นลายดอกบัว กอบัวอย่างสวยงาม โดยเฉพาะหางหงส์ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ ทำเป็นรูปหัวนาคตรงหงอนสะบัด ปลายเป็นกนกเปลว
อุโบสถวัดแจ้งได้รับการบูรณะเรื่อยมาโดยพยายามให้คงสภาพเหมือนเดิมที่สุด ซึ่งนับเป็นโบราณสถานที่คุณค่าแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลฯ เคยได้รับเกียรติบัตรในงานนิทรรศการ "สถาปนิก 30" จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เที่ยวได้ตลอดทั้งปี