“พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี ภายในมีการจัดแสดงเรื่องราวท้องถิ่น ได้แก่ สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติการตั้งเมือง โบราณวัตถุซึ่งเป็นหลักฐานทางด้านศิลปโบราณคดี หัตถกรรมพื้น บ้าน การละเล่นพื้นเมือง และเครื่องใช้ของเจ้าเมืองอุบล”
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ตั้งอยู่ที่ถนนเขื่อนธานีตัดกับถนนอุปราช เป็นอาคารปั้นหยาชั้น เดียว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2461 เดิมใช้เป็นศาลากลางจังหวัด ต่อมาทางจังหวัดได้มอบอาคารหลังนี้ให้กรมศิลปากร เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ บนที่ดินที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว (มณฑลอีสาน) ประทับ ณ เมืองอุบลราชธานี ได้ทรงขอมาจากทายาทของราชบุตร (สุ่ย บุตรโลบล) คือ หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา (ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรสิทธิประสงค์) เพื่อให้เป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับก่อสร้างสถานที่ราชการ
ลักษณะอาคาร เป็นตึกชั้นเดียวยกพื้นสูง ตัวอาคารก่ออิฐฉาบปูน หลังคาทรงปั้นหยา แผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศเหนือ ภายในอาคารประกอบด้วยห้องโถงใหญ่อยู่ตรงกลาง มีระเบียงทางเดินและห้องขนาดเล็กอยู่โดยรอบ เหนือกรอบประตูและหัวเสารับชายคา ที่ระเบียงประดับด้วยไม้ฉลุลายพันธุ์พฤกษา ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเติบโตขึ้น อาคารศาลากลางหลังนี้มีสภาพคับแคบ ไม่เพียงพอกับหน่วยงานราชการที่เพิ่มขึ้น จึงได้สร้างอาคารศาลากลางหลังใหม่ทางด้านตะวันตกของทุ่งศรีเมือง เมื่อ พ.ศ. 2511 ส่วนอาคารศาลากลางหลังเก่าได้ใช้เป็นสำนักงานของหน่วยราชการต่างๆ มาโดยตลอด
ในปี พ.ศ. 2526 นายบุญช่วย ศรีสารคาม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบอาคารศาลากลางหลังเก่าให้กรมศิลปากรทำการบูรณะ และใช้ประโยชน์จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อการบูรณะซ่อมแซมตัวอาคารและจัดแสดงนิทรรศการถาวรแล้วเสร็จ กรมศิลปากรได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2532
การจัดแสดง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่กรมศิลปากรจัดตั้งขึ้น เพื่อสนองตอบความต้องการของท้องถิ่น ที่จะให้เป็นศูนย์ศึกษา อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ตามแนวทางการพัฒนากิจการพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ การจัดแสดงนิทรรศการถาวรจึงมุ่งเน้นเรื่องราวด้านต่างๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมพื้นบ้าน และ ชาติพันธุ์วิทยา โดยแบ่งหัวข้อเรื่องนิทรรศการเป็น 10 ห้อง ดังนี้
ห้องจัดแสดงที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดอุบลราชธานี
ห้องจัดแสดงที่ 2 ภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ห้องจัดแสดงที่ 3 สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ห้องจัดแสดงที่ 4 สมัยประวัติศาสตร์เริ่มแรก วัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเจนละ (ขอมหรือเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร) ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 - 15
ห้องจัดแสดงที่ 5 วัฒนธรรมขอมหรือเขมรสมัยเมืองพระนคร ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 - 18
ห้องจัดแสดงที่ 6 วัฒนธรรมไทย-ลาว ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 23 - 25
ห้องจัดแสดงที่ 7 ผ้าโบราณและผ้าพื้นเมืองอุบลราชธานี
ห้องจัดแสดงที่ 8 ดนตรีพื้นเมือง
ห้องจัดแสดงที่ 9 ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน และเครื่องใช้ในครัวเรือน
ห้องจัดแสดงที่ 10 การปกครอง และงานประณีตศิลป์เนื่องในพุทธศาสนา
เปิดทำการตั้งแต่วันพุธถึงวันอาทิตย์ จากเวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โทร. 045-255-071