“วัดสวย โบราณสถาน สำนักปฏิบัติธรรม วัดเก่าสมัยอยุธยา มีสวนป่าขนาดใหญ่ไว้ปฎิบัติธรรม”
วัดมเหยงคณ์ ตั้งอยู่เลขที่ 95 หมู่ที่2 ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเก่าสมัยอยุธยาที่ถูกทิ้งร้างไปหลังจากที่เสียกรุงศรีอยุธยาในครั้งที่ 2 จนมีสภาพเป็นโบราณสถาน ปัจจุบันเหลือซากปรักหักพังของอุโบสถถูกปรับปรุงให้เป็นวัดสายปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานและบวชเนกขัมมะถือศีล 8 โดยท่านเจ้าคุณภาวนา เขมรังสี(หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี) ภายในเงียบสงบ บรรยากาศร่มรื่น กว้างขวาง สะอาด สวยงาม มีโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้ชม
วัดมเหยงคณ์ สร้างในรัชกาลสมเด็จเจ้าสามพระยา เมื่อ พ.ศ. 1981 โดยสร้างเจดีย์ทรงระฆังอยู่บนฐานทักษิณ มีช้างล้อมเป็นประธานของวัดเจดีย์ช้างล้อมนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าคงเอาแบบอย่างมาจากพระเจดีย์ชัยของพระเจ้าทุษฐาคามินีมหาราชในลักกาทวีป ซึ่งทรงช้างชื่อกุลฑลทำสงครามได้ชัยชนะ ได้ครองราชสมบัติมีโอกาสทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในลักกาให้รุ่งเรืองยิ่งในสมัยพระองค์
เจดีย์ช้างล้อมในลักษณะคล้ายกันนี้เคยพบมาแล้วที่เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชร ส่วนชื่อวัดมเหยงค์นั้นสันนิษฐานว่าตั้งชื่อตามมหิยังคณะเจดีย์ในลักกาทวีป
ต่อมารัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการปฏิสังขรณ์วัดมเหยงค์ ครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2252 เสด็จทอดพระเนตรการปฏิสังขรณ์อยู่เนื่อง ๆ จึงโปรดให้สร้างพระตำหนักที่ประทับขึ้นบนเกาะแห่งหนึ่งทางด้านทิศใต้นอกกำแพงวัดลักษณะเป็นอาคารตึก 2 ชั้น แบบเดียวกับวัดกุฎีดาว และตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์
งานปฏิสังขรณ์ครั้งนี้พระอุโบสถเป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ตรงตำแหน่งเดิม ซึ่งอาจจะเคยเป็นวิหารก็ได้ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและลวดลายปูนปั้นต่าง ๆ ที่พระอุโบสถแห่งนี้เป็นงานครั้งรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ
ประวัติวัดมเหยงคณ์ในอดีต
วัดมเหยงคณ์ เดิมเป็นพระอารามหลวงฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่เคยสำคัญยิ่งมาในอดีตสมัยอยุธยา โดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2(เจ้าสามพระยา) ทรงสร้างขึ้น และได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้งในหลายสมัย แต่ได้กลายเป็นวัดร้าง เข้าใจว่านับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 รวมเวลาร่วงเลยมา 200กว่าปี ปัจจุบันเป็นวัดร้างที่สภาพโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ยังเหลืออยู่ได้ปรักหักพังไปมาก แต่ก็พอมีเค้าเป็นหลักฐานบ่งบอกถึงศิลปะการก่อสร้างอันประณีตงดงามมโหฬารและระดับความสำคัญของพระอารามแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
ประวัติวัดมเหยงคณ์ในปัจจุบัน
หลังจากสิ้นกรุงศรีอยุธยาวัดมเหยงคณ์ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2527 พระครูเกษมธรรมทัต(ปัจจุบันเป็นพระภาวนาเขมคุณ วิ.) ได้จัดตั้งสำนักกรรมฐานขึ้นในบริเวณวัดมเหยงคณ์ โบราณสถานได้รับการดูแล ถากถางพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่ขึ้นปกคลุมโบราณสถานไว้ ปรับบริเวณพื้นที่ในฝ่ายพุทธาวาสและสังฆาวาสให้ร่มรื่นและสงบเงียบจากสิ่งรบกวน กรมศิลปากรเองก็เข้ามาดำเนินการขุดแต่งและปฏิบัติงามตามโครงการบูรณะฟื้นฟูดินแดนกลุ่มอโยธยาทำให้สภาพของวัดมเหยงคณ์ ที่เปรียบเสมือนทองคำจมดินอยู่ ได้รับการขัดสีฉวีวรรณให้สุกปลั่ง ปรากฏแก่สายตาของผู้มาพบเห็นได้ชื่นชมและประจักษ์ในคุณค่าของสถาปัตยกรรมไทยในอารามแห่งนี้ได้เต็มที่
ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดมเหยงคณ์เป็นโบราณสถานของชาติ ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2484 กรมศิลปากรได้เข้าไปบูรณะ และเนื้อที่นอกเขตโบราณสถานได้จัดเป็นสำนักปฏิบัติกรรมฐาน โดยมีประชาชนเข้าไปรับการอบรมเป็นจนนวนมาก ทางวัดมเหยงคณ์ได้จัดให้มีกิจกรรมทางศาสนามากมาย ได้แก่
- – จัดอบรมวิปัสนากรรมฐาน
- – จัดอบรมปฏิบัติธรรมพิเศษ
- – จัดบวชเนกขัมมภาวนาประจำเดือน
- – จัดบวชถือศีล 8 ประจำวัน
- – จัดบวชพระสงฆ์ประจำเดือน และ พระสงฆ์จำพรรษา
ค่าเข้าชม : คนไทย 10 บาท, ต่างชาติ 50 บาท นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ และเด็กเข้าฟรี
เวลาเปิด - ปิด : เปิดตลอดทุกวัน 08.00 น. - 17.00 น. เที่ยวได้ตลอดทั้งปี