“เจดีย์ซาวหลัง พระเจดีย์มีอายุกว่าพันปี มี 20 องค์”
เจดีย์ซาวหลัง "ซาว" แปลว่า ยี่สิบ "หลัง" แปลว่า องค์ วัดเจดีย์ซาวหลัง แปลว่าวัดที่มีเจดีย์ 20 องค์
เป็นวัดใหญ่อยู่กลางทุ่งนา บริเวณวัดร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ วัดนี้เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของจังหวัดลำปางสร้างแต่โบราณ ทรงคุณค่าทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุ จากหลักฐานการขุดพบพระเครื่องสมัยหริภุญชัยที่องค์พระเจดีย์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดนี้สร้างมานานกว่าพันปี
สิ่งที่น่าชมภายในวัดคือ
- องค์พระธาตุเจดีย์ซาว ที่มีศิลปะล้านนาผสมศิลปะพม่า
- "พระพุทธรูปทันใจ" พระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน
- พระอุโบสถหลังใหญ่ซึ่งประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีพุทธลักษณะงดงาม
- บานประตูทั้งสามเป็นของโบราณ เขียนลวดลายรดน้ำละเอียดสวยงาม
- เสาซุ้มประตูหน้าต่างประดับลวดลายกระจกสีเป็นลักษณะศิลปะสมัยใหม่
- ศาลาการเปรียญเรือนไม้ชั้นเดียวด้านหลังพระอุโบสถ ได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงโบราณวัตถุที่ชาวบ้านนำมาถวาย
- เมื่อปี พ.ศ. 2526 ชาวบ้านได้ขุดพบพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์หนัก 100 บาทสองสลึง มามอบให้แก่ทางวัดซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ชื่อว่า "พระแสนแซ่ทองคำ" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ 21 ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้วครึ่ง สูง 15 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ
ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นธงชัย ห่างจากตัวเมือง 5 กม. ตามถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ททท. สำนักงานเชียงใหม่ (สำนักงานชั่วคราว)(เชียงใหม่,ลำพูน,ลำปาง) 053-276140-2
เจดีย์ซาวหลัง 089-6365370
รีวิวทั้งหมด
(รีวิว 4 รายการ)รีวิวเมื่อ 7 ส.ค. 53
รีวิวเมื่อ 7 ส.ค. 53
รีวิวเมื่อ 7 ส.ค. 53
ภาษาล้านนาเรียกสลักหรือหมุดว่า “แซ่ว” หรือ “แซ่” ส่วน “แสน” หมายถึง มากยิ่ง ดังนั้น พระพุทธรูปที่ใช้หมุดหรือแซ่ยึดไว้เป็นจำนวนมาก จึงได้ชื่อว่า “พระเจ้าแสนแซ่” เช่นเดียวกับที่คนภาคกลางเรียกพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ว่า “หลวงพ่อโต” นั่นเอง
วัดหลายแห่งในภาคเหนือมีพระเจ้าแสนแซ่ประดิษฐานไว้ รวมทั้งวัดเจดีย์ซาวหลัง อ.เมือง จ.ลำปาง แต่พระเจ้าแสนแซ่ที่วัดพระเจดีย์ซาวหลังนี้ เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะพิเศษต่างจากพระเจ้าแสนแซ่โดยทั่วไป
ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อปี ๒๕๒๖ ได้มีชาวบ้านขุดพบพระพุทธรูปทองคำและนำมาถวายให้เป็นสมบัติของวัดพระเจดีย์ซาวหลัง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ เข้าลักษณะพระสีหลักษณะตามตำรับช่างโบราณเชียงแสน ศิลปะสมัยลานนา-กรุงศรีอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ขนาดหน้าตักกว้าง ๙ นิ้วครึ่ง สูง ๑๕ นิ้ว ทำด้วยทองคำ ๙๕.๕% น้ำหนักรวม ๑๐๐ บาทกับ ๒ สลึง
สร้างด้วยกรรมวิธีเคาะตีขึ้นรูปทั้งองค์ ถอดออกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ได้ ๓๒ ชิ้น สังฆาฏิถอดได้เป็นแผ่นยาว ที่สังฆาฏิด้านหน้าด้านหลังประดับด้วยอัญมณีที่มีค่า ที่พระนลาฎประดับด้วยนิหล่า(พลอยชนิดหนึ่งมีสีฟ้าเข้ม อมเทา) ๑ เม็ด รอบพระเมาลีอีก ๔ เม็ด และที่ยอดพระเมาลี ๑ เม็ด เมื่อนำชิ้นส่วนต่างๆ เหล่านี้มาประกอบสวมต่อกันด้วยสลักใส่ไว้เป็นแห่งๆ จึงเข้าตำรับ ‘แสนแซ่ ที่สำคัญก็คือ ในช่องพระเศียรมีผอบซึ่งบรรจุพระบรมธาตุไว้ด้วย และสามารถถอดพระเศียรได้เป็นชั้นๆ
ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ ภายในองค์พระมีหัวใจ ตับ ไต ไส้ ซึ่งทำด้วยทองคำบริสุทธิ์เช่นกัน และยังมีใบลานทองคำ ๒ แผ่น จารึกคาถาอักษรพื้นเมืองพันรอบขั้วหัวใจ และที่ไตมีจารึกอักขระ ๓๒ ตัว
พระเจ้าแสนแซ่เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ และในวันที่ ๑๕ เมษายนของทุกปี จะมีงานประเพณีประจำปี พิธีสรงน้ำพระเจ้าแสนแซ่ทองคำ และในวันนั้นจะมีพิธีถอดสลักเปิดพระเศียร เพื่อนำพระบรมธาตุจากพระผอบมาสรงน้ำด้วย
ขอบคุณ ข้อมูลส่วนนี้ จาก http://www.dhammajak.net/
รีวิวเมื่อ 6 ส.ค. 53