“วัดพระธาตุจอมมอญ นมัสการพระธาตุ ชมทิวทัศน์แม่สะเรียง ”
พระธาตุจอมมอญ เป็นปูชนียสถานที่มีลักษณะเป็นเจดีย์เก่าแก่ ถือกันว่าเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานและมีงานฉลองในเดือนกรกฎาคมของทุกปี
ประวัติ
ไม่ปรากฏสร้างขึ้นเมื่อใด แต่หลักฐานค้นพบที่กู่คำ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัย พระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๗ ราชวงศ์มังราย โดยให้อุปราช เจ้าแสนคำ เป็นผู้สร้าง ประมาณ พ.ศ. ๑๙๓๕
อัฐิ เจ้าแสนคำ ได้บรรจุไว้ที่กู่คำ หรือกู่แสนคำ ตั้งอยู่บริเวณ อุโบสถในปัจจุบันนี้ พ.ศ. ๒๑๔๓ ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้กอบกู้บ้านเมืองได้เกลี้ยกล่อมชาวไทย ไทยใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง ละว้า จากพม่าเป็นสมัครพรรคพวกให้มาขึ้นกับไทย ประกอบกับกษัตริย์มอญได้หนีข้าศึกทางพม่านุ่งห่มขาวลี้ภัยพร้อมด้วยบริวาร มาตั้งรกรากอยู่บริเวณนี้ จึงได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุจอมมอญ
กาลล่วงไปพระเจดีย์ได้ชำรุดทรุดโทรม เหลือแต่ซากปรักหักพังเป็นหลุม คล้ายปลักควาย ลุถึง พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยการนำของตระกูลกะเหรี่ยง "พ่อเฒ่าหม่อนจอนุ แม่หม่อนโยแฮ พิกุล" สร้างครอบองค์เก่า ต่อมา พ.ศ. ๒๕๔๐ ทางวัดจึงได้สร้างครอบองค์เดิมให้ใหญ่และสูงขึ้น เดิมบรรจุพระบรมธาตุพระหนุ (ส่วนคาง) และพระอูรุงคธาตุ มีการบรรจุพระธาตุเพิ่มโดยคุณรัตนาภร จงจิตรนันท์ ผู้อันเชิญพระธาตุแก้วเสด็จมาที่ห้องพระแล้วนำมาถวาย บรรจุในเจดีย์นี้ด้วย ๑๐๐๐ องค์ ก่อนการบูรณปฏิสังขรณ์
วัดพระธาตุจอมมอญจัดเป็นวัดร้างอยู่ในเขตป่ารกชัฏ มีสถานะเป็นเพียงสำนักสงฆ์ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เมื่อชาวบ้านพะมอลอได้อารธนาพระภิกษุึมาจำพรรษาจากวัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่พระสุพรหมยานเถร (พรหมา พฺรหฺมจกฺโก) พระภิกษุที่มาจำพรรษาในครั้งนั้นมีด้วยกัน ๒ รูป คือ พระอาจารย์สวัสดิ์ นริสฺสโร และ พระอาจารย์พิมล ชาตวีโร จากนั้นก็มีหลวงพ่อตาคำ สํวโร จากวัดน้ำจำ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มาสมทบ พระภิกษุทั้ง ๓ รูปนี้ถือเป็นกำลังสำคัญในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุจอมมอญ
การร่วมแรงร่วมใจกันทั้งทางฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุจอมมอญ ทำให้เสนาสนะ ถาวรวัตถุ มีอยู่อย่างสัปปายะ พระอาจารย์สวัสดิ์ นริสฺสโร จึงได้ทำเรื่องไปยังกรมการศาสนาเพื่อยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดถูกต้องตามกฎหมาย และกรมการศาสนาเห็นชอบได้ประกาศให้วัดพระธาตุจอมมอญขึ้นทะเบียนเป็นวัด เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่งตั้งให้พระอธิการสวัสดิ์ นริสฺสโร เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๑ ณ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๓ พร้อมกันนั้นทางวัดพระธาตุจอมมอญยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นอุทยานการศึกษาในปีเดียวกัน คือ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
ศิลปะภายในวัด สิ่งปลูกสร้างและถาวรวัตถุในวัดพระธาตุจอมมอญ เป็นศิลปะแบบผสมผสานจีน ไทย ล้านนา สิ่งที่อยู่คู่วัดมาแต่เดิมเห็นจะมีแต่พระเจดีย์ พระเจดีย์เองถูกบูรณะให้ครอบองค์เก่าไว้อีกชั้นหนึ่ง จึงทำให้ไม่ได้เห็นองค์เจดีย์เดิม ถึงแม้ว่า วัดพระธาตุจอมมอญ จะมีคำลงท้ายด้วยคำว่า “มอญ” แต่ศิลปะที่ปรากฏภายในวัด กลับไม่ปรากฏศิลปะมอญเลย ด้วยว่าการบูรณปฏิสังขรณ์วัดในสมัยพระอาจารย์สวัสดิ์ นริสฺสโร ผู้เป็นกำลังอุปถัมภ์ในการหาทุนทรัพย์ ส่วนใหญ่เป็นญาติโยมคนไทยเชื้อสายจีน จึงทำให้สิ่งปลูกสร้างได้รับอิทธิพลศิลปะจีน เช่น วิหารพระอวโลกิเตศวร พระสังกัจจายน์ ผสมด้วยศิลปะล้านนา เช่น พระอุโบสถ หอพระไตรปิฎก
เที่ยวได้ตลอดทั้งปี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน 053-612982-3
รีวิวทั้งหมด
(รีวิว 3 รายการ)รีวิวเมื่อ 15 ก.ย. 55
รีวิวเมื่อ 16 พ.ย. 53
รีวิวเมื่อ 16 พ.ย. 53