“วัดจอมสวรรค์ เป็นวัดไทยใหญ่ สร้างแบบสถาปัตยกรรมพม่า หลวงพ่อสาน พระพุทธรูปงาช้าง คัมภีร์งาช้าง”
วัดจอมสวรรค์ เป็นวัดไทยใหญ่ สร้างแบบสถาปัตยกรรมพม่า หลังคาซ้อนลดหลั่นเป็นชั้นประดับประดาลวดลายฉลุ อารามเป็นไม้สัก ใช้เป็นทั้งโบสถ์ วิหาร และกุฏิ ภายในอารามแสดงให้เห็นฝีมือการตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง เพดาน และเสาฉลุไม้ประดับกระจกสีงดงาม
โบราณวัตถุภายในวัด ได้แก่
- หลวงพ่อสาน เป็นพระพุทธรูปที่สร้างโดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นองค์ลงรักปิดทอง
- พระพุทธรูปงาช้าง ซึ่งเป็นศิลปะแบบพม่า คัมภีร์งาช้าง หรือคัมภีร์ปาติโมกข์ โดยนำงาช้างมาบดแล้วอัดเป็นแผ่นบาง ๆ เขียนลงรักแดง จารึกเป็นอักษรพม่า และ
- บุษบก ลวดลายวิจิตรงดงามประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน
ประวัติวัดจอมสวรรค์
สร้างขึ้นโดยชาวไทยใหญ่(เงี้ยว) เป็นศิลปะแบบพุกาม จะเห็นได้จากสภาพวัดต่างๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง อายุของวัดมีมานานหลายร้อยปี เดิมที่เป็นวัดที่สร้าง ในป่ารกร้างป่าร่มครึ้มน่ากลัว มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาทึบ มีลำคลองตัดผ่าน ขณะนั้น ยังไม่มีหมู่บ้านและผู้คนอาศัยอยู่เลย จนกระทั่งพ่อเฒ่ากันตี และนายฮ้อยคำมาก สองพ่อค้าเงี้ยว อพยพครอบครัวมาปักหลักอยู่ที่ป่าทึบใกล้บริเวณที่ตั้งวัดจอมสวรรค์ มาเห็นสภาพวัดซึ่งเป็นศิลปะแบบของต้นจึงเกิดความ เลื่อมใสมีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่งนักจึงทำการบูรณะซ่อมแซม ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากพวกเงี้ยวที่อพยพติดตามมา กับพ่อเฒ่ากันตี แม่เฒ่าหล้า เจริญกุศล และนายฮ้อยคำมาก นับแต่นั้นมาชาวเงี้ยว
ได้อพยพมาสร้างที่อยู่อาศัยบริเวณวัดมากมาย จนกลายเป็นหมู่บ้านใหม่ เรียกว่า “หมู่บ้านใหม่” จนทุกวันนี้ ในขณะนั้นตรงกับสมัยของเจ้าผู้ครองนครแพร่ ชื่อ เจ้าพิมพิสาร
(เจ้าหลวงขาเค) พ.ศ.๒๔๑๕ และต่อมาคุณพ่อของแม่เตียว อักษรมินทร์ ชื่อ นายจองนั่นตา(เฮดเมนอังกฤษ) และแม่กุยได้เป็น ผู้ดำเนินการสร้างเพิ่มเติมจนเสร็จ พร้อมทั้งสร้างเจดีย์รูปทรงแบบพม่า(พุกาม)ไว้ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบันรวมบูรณะปฏิสังขรณ์ ที่ทำให้งดงามด้วยศิลปะลวดลายต่างๆ ซึ่งเกิดจากฝีมือของช่างพม่า ประมาณหนึ่งร้อยปีเศษ(ล่วงมาแล้ว)
จากรูปถ่ายของ “นายจองนั่นตา” (เฮดแมนอังกฤษ) ระบุไว้ว่า จองนั่นตาถึงแก่กรรม เมื่อ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ รวมอายุได้ ๖๖ ปี ดังนั้นเราจึงทราบได้ว่า ท่านผู้นี้เกิดใน พ.ศ. ๒๔๑๓ ท่านมาภูมิลำเนา เดิมอยู่ทางเหนือของพม่า เคยคลุกคลีกับชาวอังกฤษมาก่อน ต่อมาได้ย้ายเข้ามาค้าขายที่เมืองแพร่จนร่ำรวย จึงคิดสร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์ ประจวบกับ ในขณะนั้นพวกเงี้ยวก็กำลังคิดสร้างถาวรวัตถุให้กับพุทธศาสนา ท่านเลยถือโอกาสร่วมแรงใจกันสร้างเพิ่มเติม วัดจอมสวรรค์ ซึ่งเป็นศิลปะแบบของตน ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ในสมัยนั้นชาวไทยใหญ่(เงี้ยว)ได้สร้างวัดไว้ที่เมืองแพร่ถึง ๓ วัด ด้วยกันคือ วัดจองใต้ (วัดต้นธง) วัดจองกลาง (สระบ่อแก้ว) วัดจองเหนือ(วัดจอมสวรรค์)
วัดนี้จึงเป็นโบราณสถาน และมีโบราณวัตถุที่มีคุณค่าหลายอย่า ของเมืองแพร่ และชาติไทยเป็นศิลปะอันล้ำค่าของพระพุทธศาสนา กรมศิลปากรได้เล็งเห็นความสำคัญของโบราณสถาน และโบราณวัตถุอันล้ำค่า จึงได้จดทะเบียนไว้เป็นสมบัติของชาติ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๓ เพื่อจะได้อนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานดูปัจจุบันนี้จึงอยู่ในโครงการสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่ง ของจังหวัดแพร่ และองค์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย วัดจอมสวรรค์ มีมีความวิจิตรงดงามหลายอย่าง หากจะมองดูแต่ภายนอกก็จะเป็นรูปทรงขอวัดพม่า จะแปลกอยู่ตรงที่วิหารสร้างด้วยไม้สักฉลุไม้ประดับกระจกอย่างงดงามโดยเฉพาะเพดาน ส่วนหนึ่งในวิหารหลังนี้ได้แสดงศิลปะวัตถุโบราณไว้มากมาย เช่น คัมภีร์โบราณที่ทำจากงาช้าง ดอกไม้หิน ปืนคาบศิลาหลวงพ่อสาน เป็นต้น ซึ่งเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุที่ทรงคุณค่ายิ่ง
เปิดทุกวัน เวลา : 08.00 น. - 16.30 น.
การเดินทาง : ตั้งอยู่บนถนนยันตรกิจโกศล ตำบลทุ่งกวาว ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กิโลเมตร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแพร่ 054-646205
ททท.สำนักงานแพร่(รับผิดชอบแพร่ น่าน อุตรดิตถ์) 054-521127,054-521118-9
ททท.Call Center 1672
รีวิวทั้งหมด
(รีวิว 1 รายการ)รีวิวเมื่อ 12 ส.ค. 53