“วัดเจดีย์ทอง ”
วัดชเวเมียนโหว่นเซดี หรือ เจดีย์ทองแห่งเจ้ากรมม้า วัดฉ่วยมินหวุ่น
พระเจดีย์ชเวเมียนโหว่นนั้น ได้ถูกสร้างขึ้นไว้เป็นประธานของเขตพุทธาวาสที่ได้ถูกจัดวางไว้ ณ ตำแหน่งเกือบจะกึ่งกลางของเมือง จากสภาพที่ตั้งของพระธาตุ ขนาดของเจดีย์ และการจัดวางผังเมืองทำให้เราทราบได้ว่า เจดีย์ชเวเมียนโหว่นนั้นมีความสำคัญต่อเมืองเมียวดีในฐานะของพระธาตุประจำเมืองจากเชิงสะพานมิตรภาพ ไทย-พม่า เดินทางต่อไปตามถนนใหญ่อีกประมาณ 500 เมตร จะได้พบกับวัดชเวเนียมโหว่น ซึ่งเป็นเขตพุทธาวาสอันเป็นที่ประดิษฐานของพระเจดีย์สีทองขนาดใหญ่ ซึ่งมีความงดงามและสำคัญที่สุดของเมืองเมียดี เจดีย์ศิลปมอญ-พม่า ที่ได้ถูกสร้างขึ้นบนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ 20 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 เมตร มีความสูงจากฐานถึงยอดฉัตรประมาณ 123 ฟุต 3 นิ้ว ฐานชั้นแรกขององค์เจดีย์ประกอบด้วย เจดีย์รายขนาดเล็กจำนวน 28 องค์ ตลอดองค์ระฆังจนถึงชั้นปลียอดประดับด้วยแผ่นทองคำ กลางองค์ระฆังประดับด้วยเส้นเข็มขัดรัดองค์ระฆังโดยรอบ ถัดลงมาจากเข็มขัดทำเป็นรูปอสูร ซึ่งปรากฎเฉพาะหัวและมือถือช่อกระหนกแบกเข็มขัดแวดล้อมอยู่ทั้งสี่ทิศ ระฆังประดับด้วยลายกรุยเชิงโดยรอบรับปล้องไฉน และชุดบัวคว่ำบัวหงายที่รับชั้นปลียอด ซึ่งประดับไว้ด้วยฉัตรที่มียอดเป็นทองคำประดับไว้ด้วยอัญมณีนานาชนิด
ลานพระเจดีย์ทั้งสี่ทิศ มีวิหารหลังใหญ่แห่งเดียว เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้ภายใน แต่ละองค์งดงามตามแบบพุทธศิลปพม่า ประดิษฐานไว้ให้ผู้ศรัทธาได้มากราบไหว้ ทำสมาธิและขอพรกันตามกำลังศรัทธา พระพุทธรูปแต่ละองค์ล้วนแต่มีพระนามอันเป็นมงคล เพื่อความสุขความเจริญของชาติบ้านเมืองและความสมหวังของผู้มาบำเพ็ญกุศล เช่น
1. วิหารด้านตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปนามว่า "สุตองปญี่" ซึ่งแปลว่า พรสมปรารถนา
2. วิหารด้านทิศเหนือประดิษฐานรูปจำลองของ "พระมหาเมี๊ยตมุนี" หรือผู้รู้อันประเสริฐ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของเมืองมัณฑเลย์และชาวพม่าทั้งมวล
3. ส่วนวิหารทางด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปนามว่า "ชั้นตาจีย์" หรือความชุ่มเย็นอันยิ่งใหญ่
4. วิหารทางด้านใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งมีนามว่า "ปีญ์ลงชั้นตา" หรือชุ่มเย็นทั้งแผ่นดิน