“ค่ายพระนเรศวร พักแรมและสวรรณคตที่แห่งนี้ ก่อนไปตีเมืองอังวะ”
สถูปพระนเรศวรมหาราช
ชาวเชียงใหม่ได้ร่วมกันจัดสร้างอนุสรณ์แด่พระองค์ดำขึ้น เนื่องจากบริเวณบ้านเมืองงาย ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว เป็นสถานที่ที่พระองค์ได้ทรงยั้งทัพตั้งค่าย เป็นการเตรียมตัวเข้าโจมตีขับไล่อริราชศัตรู โดยมีหลักฐานปรากฏชัดจากไม้รั้วค่ายซึ่งยังมีอยู่มากในบริเวณนั้น ประกอบด้วยพระสถูปเจดีย์ซึ่งอยู่นอกเขตไทยได้ชำรุดทรุดโทรมและถูกทำลายไป จึงได้สร้างขึ้นในที่แห่งนี้แทนพระเจดีย์องค์ที่ได้สูญเสียไปนั้น
สถูปเป็นเจดีย์ฐาน 8 เหลี่ยม ที่ฐานด้านหนึ่งประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ละด้านของฐานเป็นแผ่นศิลาสลักเรื่องพระราชกรณียกิจของพระองค์ สลับกับแผ่นหินอ่อนที่เล่าพระราชประวัติ ประวัติการสร้างพระสถูป ด้านหลังเป็นค่ายหลวงจำลองที่ภายในประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และสมเด็จพระสุพรรณกัลยา
ประวัติพระนเรศวรมหาราชกับเมืองงาย
เมืองงายในอดีตมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์อยู่มิใช่น้อย จากบทความรู้เรื่องเมืองงายของอาจารย์ชุ่ม ณ บางช้าง ได้กล่าวไว้ว่า ความสำคัญของเมืองงายเนื่องจากตั้งอยู่ในเส้นทางเดินทัพบุเรงนอง กษัตริย์พม่าเคยทรงใช้เส้นทางผ่านสายเมืองงายนี้เข้าโจมตีนครเชียงใหม่ถึง 2 ครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2101 ครั้งหนึ่ง กับเมื่อ พ.ศ. 2107 อีกครั้งหนึ่ง และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ทรงใช้เส้นทางนี้ เมื่อคราวเสด็จยกกองทัพไปตีกรึงอังวะ เมื่อ พ.ศ. 2147 ปรากฏหลักฐานจากหนังสือไทยรบพม่า
พระราชนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีข้อความพิสดารว่า “ครั้นพระเจ้าอังวะมีอำนาจขึ้น เหล่าเมืองไทยใหญ่ที่อยู่ใกล้แดนพม่ากลัวเกรงกลัวยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าอังวะก็มี เมืองที่อยู่ห่างออกไปไม่ยอมอ่อนน้อมโดยดี พระเจ้าอังวะก็ยกทัพปราบปรามตีได้เมืองไทยใหญ่ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระโดยลำดับมาจนถึงเมืองหน่ายที่มาขึ้นอยู่กับไทย พระเจ้าอังวะตีได้เมืองหน่ายแล้วจะมาตีเมืองแสนหวี สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบก็ขัดเคือง จึงดำรัสสั่งให้กะเกณฑ์รี้พลจำนวน 100,000 เข้ากองทัพจะเสด็จไปตีเมืองอังวะ
เที่ยวได้ทุกวัน
ไม่มีค่าธรรมเนียมในการเข้าชม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ 053-112877 , 053-112877-18
ททท. สำนักงานเชียงใหม่ (สำนักงานชั่วคราว)(เชียงใหม่,ลำพูน,ลำปาง) 053-276140-2