“วัดเก่าแก่ มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ อุโบสถ ใบเสมา บัวบรรจุอัฐิ”
วัดเขาพระอานนท์ หรือ วัดเขาหัวล่าง ตั้งอยู่ที่ อ.พุนพิน ติดริมฝั่งคลองพุนพิน อยู่ห่างจากวัดเขาศรีวิชัย หรือวัดเขาหัวบน ประมาณ 750 เมตร ตัววัดสร้างโดยดันแปลงภูเขาให้เป็นศาสนสถาน โดยก่อกำแพงล้อมรอบภูเขาลดหลั่นกันไป 3 ขั้น ตัวยอดเขาถูกปรับพื้นที่ให้เรียบ แล้วสร้างเจดีย์และอุโบสถไว้คู่กัน
จากศิลาจาริึกของวัดน้ำรอบระบุว่า แต่เดิมวัดเขาพราอานนท์นี้ถูกสร้างเป็นวัดหลวง เช่นเดียวกับวัดน้ำรอบและวัดถ้ำสิงขรซึ่งถูกสร้างขึ้นมาในยุคเดียวกัน
ภายในบริเวณวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น เจดีย์ อุโบสถ ใบเสมา บัวบรรจุอัฐิ
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
1. เจดีย์ ทรงปราสาทก่ออิฐถือปูน สูงประมาณ 9 เมตรเศษ ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้างด้านละ 5.10 เมตร เรือนธาตุมีซุ้มจระเข้นำทิศทั้ง 4 ด้าน ด้านทิศตะวันออกมีบันไดทางขึ้นสามารถเดินเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปในองค์เจดีย์ได้ หน้าบันไดเหนือซุ้มทำเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นรูปราหูอมจันทร์ ชั้นบนเป็นรูปเทพพนม มีลายกนกประกอบเป็นฉากหลัง ยกเว้นด้านทิศตะวันออกด้านเดียวเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ถัดจากชั้นเรือนธาตุเป็นอาคารย่อส่วนเลียนแบบ ชั้นล่างรอรับองค์ระฆังสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง หน้าบันไดเหนือมุขอาคารชั้นนี้มีลายปูนปั้นรูปดอกบัว ส่วนยอดเป็นบัวรองรับก้านฉัตรและธานุไชยา คงสร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย และยังมีรูปแบบศิลปกรรมคล้ายกับเจดีย์วัดอัมพาวาส (วัดท่าม่วง) อำเภอท่าชนะอีกด้วย
2. อุโบสถ ขนาดกว้าง 6.5 เมตร ยาว 12.7 เมตร ก่ออิฐถือปูน ใช้ฝาผนัง รับน้ำหนักแทนเสา เครื่องบนเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ของเดิมคงเป็นกระเบื้องกาบกล้วย มีกระเบื้องเชิงชายรูปเทพพนมเพราะได้พบแตกกระจายอยู่ในเขตวัดภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปหินทรายสีแดง ๗-๘ องค์ เหนือบานประตูหน้าต่างด้านใน ประดับด้วยเครื่องถ้วยใบเสมารอบอุโบสถทำด้วยหินทรายสีแดง ไม่สลักลวดลายใด ๆ การวิเคราะห์หลักฐาน ศิลปกรรมสมัยอยุธยาที่วัดเขาพระอานนท์ แสดงถึง การอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องของชุมชนโบราณที่ตั้งถิ่นฐานแถบเขาศรีวิชัยเรื่อยลงมาถึง วัดเขาพระอานนท์
ประวัติ (เขาเล่าว่า)
วัดเขาพระอานนท์" เล่ากันว่าสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1890 สมัยกรุงสุโขทัย ปรากฎในศิลาจารึกวัดน้ำรอบ รัชสมัยพญาลิไทย ได้เสด็จประพาสหัวเมืองทางภาคใต้ ชุมพร ไชยา นครศรีธรรมราช และคิดจะสร้างเมืองขึ้นสักแห่งหนึ่งให้เป็นเมืองคีรีรัฐ ได้จัดให้มีเรือนำร่องนำเรือไปรอท่าอยู่เป็นเวลานานก็ไม่เห็นเรือพระที่นั่งเสด็จฯมา ให้นึกสงสัยว่าจะเป็นอย่างไร ก็หันหัวเรือลงมาดู ก็เห็นเรือพระที่นั่งติดตื้นอยู่ จึงช่วยกันดันเรือออกจากที่ตื้น เมื่อออกได้แล้วก็บังเกิดเรือรั่ว ต้องแอบเข้าตอกหมันเรือให้หายรั่วแล้วซักถามคนเรือนำร่องว่า ไปข้างบนโน้นยังมีที่ตื้นหรือไม่ พวกเรือนำร่องก็ตอบว่า ยิ่งขึ้นไปก็ยิ่งตื้น จึงพร้อมใจกันหันหัวเรือกลับ มาพักอยู่ที่เกาะกลางที่มีน้ำล้อมรอบตรงหมู่"บ้านหัววัง"ทุกวันนี้สำหรับชื่อบ้านต่างๆ ได้ชื่อจากตำนานเรื่องนี้ คือ "บ้านท่ารอ" ทุกวันนี้ เพราะเรือนำร่องไปรออยู่ที่นั้น หมู่ "บ้านท่าตื้น" ทุกวันนี้ ก็เพราะเรือพระที่นั่งมาติดตื้นอยู่ตรงนั้น"บ้านฉมัน" ทุกวันนี้ ก็เพราะเรือพระที่นั่งรั่วได้ตอกหมันซ่อมเรือที่นั่น ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอ คีรีรัฐนิคม ในปัจจุบัน เมื่อมาพักอยู่ที่เกาะน้ำรอบนั้นพวกสนมและพวกองครักษ์ ได้ขึ้นไปเที่ยวในหมู่บ้านหัววัง ได้ไปเห็นเด็กหญิงคนหนึ่งยังไว้จุกอยู่ พวกสนมและองครักษ์ได้เห็นเด็กคนนี้มีลักษณะดี เป็นเบญจกลัยาณี จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระเจ้าลิไทยผู้เป็นกษัตริย์ให้ทราบ พระเจ้าลิไทยจึงมีคำสั่งให้พ่อ-แม่เด็กนั้น นำเด็กมาเข้าเฝ้าฯ เมื่อพระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นก็เป็นที่ต้องในพระราชหฤทัย จึงทรงขอเด็กนั้นจากพ่อ-แม่ไปชุบเลี้ยง พ่อ-แม่เด็กก็มอบให้ไปเมื่อพระองค์เสด็จกลับก็ได้นำเด็กนั้นไปยังกรุงสุโขทัยด้วย
กาลต่อมาหลายปี เด็กนั้นโตรุ่นสาวขึ้นก็ได้สถานปนาให้เป็นสนมเอก ในที่สุดได้สถาปนาให้เป็นราชินีอยู่ในกรุงสุโขทัย ส่วนทางบ้าน พ่อ-แม่ และพี่ชายของเด็กนั้นคิดเป็นห่วงเพราะตั้งแต่จากไปไม่ได้รับข่าวเลยจีงคิดตามถามหา แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรที่จะได้พบกัน จึงปรึกษากันสามคน พ่อ-แม่และลูกชาย ก็พอดีลูกชายมีอายุครบบวชพอดี พ่อและแม่ให้ลูกชายบวชหาความรู้เพื่อจะได้ติดตามน้อง เมื่อบวชแล้วศึกษาออกธุดงค์ขึ้นไปทางเหนือเรืชอ่ยไปจนถึงกรุงสุโขทัย ก็ตั้งหน้าศึกษาอยู่ทีนั่นจนมีความรู้แต่ยังไม่รู้ว่าน้องอยู่ที่ไหน แต่มีโชคที่พี่น้องจะได้พบกันบังเอิญพระมหากษัตริย์มีความประสงค์ทำบุญ เพื่อพระราชกุศลจึงให้มหาดเล็กไปนิมนต์พระสงฆ์จากอารามต่างๆ ไปรับภัตตาหารในพระราชวัง ก็พอดีพระพี่ชายของพระนางร่วมมาในคณะที่นิมนต์นี้ด้วย โดยเจตนาหรือบังเอิญก็ทราบไม่ได้ที่บันดาลให้พี่น้องได้พบกันพอถึงเวลาถวายอาหาร พระนางไปประเคนตรงกับพระพี่ชายเข้าพอดี แต่ก็ยังไม่รู็ว่าเป็นพี่ชาย เพราะเขากั้นพระวิสูตรไว้ไม่เห็นหน้ากัน แต่เมื่อแย้มพระวิสูตรประเคนของ พระพี่ชายรับของก็ได้เห็นตำหนิที่พระหัตถ์ขวา ก็นึกสงสัยเข้าในหัวใจ ทำให้น้ำตาตกจนลืมเลื่อนของที่ประเคน พระนางก็สงสัยว่าทำไมพระองค์นี้ไม่รับของที่ประเคน จึงแย้มพระวิสูตรดูก็เห็นน้ำตาของพระที่ไหลอย่างตื้นตัน พระนางจึงนึกย้อนหลังว่าหน้าตาพระเหมือนคลั้บคล้ายคลั้บคลากับพี่ชาย ทำให้พระนางนึกว่าพระนี้คงเป็นพี่ชายของตน เมื่อนึกว่าเป็นพี่ชายที่ตามน้องมา ก็ทำให้พระนางทรงพระกันแสงลงอย่างไม่รู้ตัวทำให้พระราชาทรงพระพิโรธว่าพระนางกับพระนี้คงจะมีอะไรกันจึงได้ดำรัสถามพระนาง พระนางตอบว่าเป็นพี่ชายได้จากบ้านหัววังติดตามมาหลายปีแล้วจึงได้มาเจอกันวันนี้ ด้วยความปราบปลื้มของพระนาง พระนางได้ถามถึงพ่อแม่ที่บ้านหัววังพี่ชายก็ไม่รู้ พระออกจากบ้านมาหลายปีแล้วเหมือนกันที่ติดตามน้องมาก็ด้วยความเป็นห่วงของพ่อและแม่ให้พี่บวชเพื่อติดตามหา พระนางจึงเล่าเรื่องให้พระราชาฟัง หลังจากพระราชารู้เรื่องเช่นนั้นอยู่มาไม่นานเท่าไรพระราชาได้สถาปนาพระพี่ชายให้เป็น เจ้าฟ้าพี่ยาเธอ ตั้งแต่บัดนั้นมา
ต่อมาจะเป็นเวลาสักเท่าใดไม่ปรากฎในหลักฐาน พระมหากษัตริย์พร้อมด้วยพระนางและเจ้าฟ้าพี่ยาเธอ เสด็จล่องใต้มาเยี่ยมพ่อและแม่ที่บ้านหัววัง ได้ปรึกษากันว่าจะทำอะไรให้เป็นอนุสรณ์ไว้สักอย่าง ผลที่สุดตกลงสร้างวัดคนละแห่ง ให้ปรากฎไว้นานแสนนาน ส่วนพระราชาจะสร้างถ้ำเป็นวัด คือ "วัดถ้ำสิงขร" ทุกวันนี้ ส่วนพระนางจะสร้างวัดที่เกาะน้ำรอบนี้ ให้นามว่า "วัดในเกาะ" เพราะมีน้ำล้อมรอบ และบางพวกก็เรียกว่าวัดน้ำรอบ แต่บัดนี้ก็ได้ร้างเป็นสวนหมดแล้ว ส่วนพระประธานชาวบ้านขนายได้ทำที่ลาก ลากไปไว้ที่ขนาย ลากกัน 3 เดือน กว่าจะถึงบ้านขนาย กลางคืนพักมีหนังตะลุงและมโนราห์แสดงประจำทุกคืน รุ่งขึ้นก็ลากกันไปอีกอยู่อย่างนี้จนถึงวัดขนาย ต่อมาชาวบ้านวัดน้ำรอบได้สร้างวัดน้ำรอบใหม่ขึ้น ห่างจากวัดเกาะที่ร้างประมาณ 1 กิโลเมตร ที่อยู่ทุกวันนี้ ส่วนเจ้าฟ้าพี่ยาเธอที่เดินทางทางถึงก่อนได้สร้างวัดบนยอดเขาพระอานนท์ เพราะมีบ้านคนอยู่ข้างเขาทั้งเขาเพราะกรายและเขาพระอานนท์ซึ่งเป็นเกาะชายทะเลในสมัยนั้น และเจ้าฟ้าพี่ยาเธอเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้ และเป็นวัดหลวงขึ้นต่อสุโขทัย เมื่อสุโขทัยสิ้นอำนาจ ได้สถาปนาขึ้นกับ กรุงศรีอยุธยาทั้ง 3 วัด เมื่อถึงจบปีทุกปี วัดถ้ำสิงขรและ วัดเขาพระอานนท์ จะต้องแห่เรือพระ ไปพร้อมกันที่วัดในเกาะน้ำรอบเป็นประจำปี และเข้าใจว่าวัดนี้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาของทางราชการในสมัยแรกๆ เพราะเป็นสถานที่ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นผู้สร้าง และเป็นที่ประทับของพระเจ้าฟ้าพี่ยาเธอที่เป็นเจ้าอาวาส
เครดิตประวัติ หนังสือแต่งรวบเรียงและเผยแพร่โดย พระครูสมุห์สมบูรณ์ ฐิตสีโล
วัดเขาพระอานนท์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๘ ตอนที่ ๑๒๗ ง เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ อุโบสถ ใบเสมา บัวบรรจุอัฐิ