“พระพุทธสิหิงค์ วัดพระมหาธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชั้นวรมหาวิหาร มีพระบรมสารีริกธาตุ องค์จตุคามรามเทพ”
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง วัดพระมหาธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชั้นวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดพระบรมธาตุ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของ ภาคใต้และประเทศไทย ตามตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช กล่าวว่า พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาสู่หาดทรายแก้ว โดยนางเหมชาลาฒ และพระธนกุมาร เมื่อประมาณปี พ.ศ.834 จึงได้สร้างพระบรมธาตุ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ผู้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราช จะก่อสร้างตกแต่งเพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อสร้างสมความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชน ที่มีต่อองค์พระบรมธาตุเช่น สมัยศรีวิชัยได้สร้างเป็นเจดีย์ทรงศรีวิชัย ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ เมื่อประมาณปี พ.ศ.1790 ได้ทรงสร้างเป็นเจดีย์ทรงลังกาครอบองค์เจดีย์เดิมแบบศรีวิชัยไว้ภายใน พระบรมธาตุเจดีย์ ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นปูชนียสถานอันเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดของชาวนครศรีธรรมราช และชาวใต้ทั้งปวง
ไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่นอนเกี่ยวกับประวัติการสร้างตามตำนานกล่าวว่า พระเจดีย์องค์เดิมสร้างตามความเชื่อของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เมื่อประมาณปี พ.ศ.1300 สมัยอาณาจักรตามพรลิงค์ ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัย ต่อมาเมื่อได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับพระภิกษุลังกา โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช ได้นิมนต์พระภิกษุลังกามาตั้งคณะสงฆ์ในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นการสถาปนาพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในระยะนั้นพระบรมธาตุองค์เดิมชำรุดทรุดโทรมมาก พระภิกษุลังกาจึงได้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์ให้เป็นสถาปัตยกรรมแบบลังกา โดยสร้างพระสถูปแบบลังกาครอบองค์พระเจดีย์เดิม เป็นพระสถูปทรงโอคว่ำปากระฆังติดกับพื้นกำแพงแก้ว ที่มุมกำแพงแก้วมีพระบรมธาตุจำลองประดิษฐานอยู่ทั้งสี่มุม
พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองนครศรีธรรมราช ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.1793 พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช ได้ยกกองทัพเรือไปตีเมืองลังกาครั้งที่ 1 ได้พระพุทธสิหิงค์มา จึงได้ฉลองสมโภชรวมกับพระบรมธาตุเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.1793 โดยมีนางพญาเลือดขาวนำเสด็จแทนพระเจ้าจันทรภาณุจากลังกา
พระพุทธสิหิงค์ มีลักษณะทางศิลปกรรมอยู่ในตระกูลช่างแบบนครศรีธรรมราชที่เรียกกันว่า แบบขนมต้ม ประดิษฐานอยู่ในหอพระพุทธสิหิงค์ ในบริเวณวังเจ้านครเก่า ปัจจุบันเป็นศาลากลางจังหวัด เปิดให้ประชาชนได้เข้าไปสักการะบูชาในเวลาราชการทุกวัน
ประวัติวัดมหาธาตุ นครศรีธรรมราช
- พ.ศ. 854 เจ้าชายทนทกุมาร และพระนางเหมชาลาและบาคู (แปลว่า นักบวช) ชาวศรีลังกา ได้สร้างวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (เดิมชื่อ วัดพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช) เจดีย์องค์เดิมเจดีย์แบบศรีวิชัยคล้ายเจดีย์กิริเวเทระ ในเมืองโบโลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา
- พ.ศ. 1093 พระเจ้าจันทรภาณุ ได้ทำการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นพร้อมกับการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นเจดีย์แบบศาญจิ
- พ.ศ. 1770 พระเจ้าจันทรภาณุ ได้บูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ เจดีย์แบบลังกา ทรงระฆังคว่ำ หรือ โอคว่ำ มีปล้องไฉน 52 ปล้อง สูงจากฐานถึงยอดปลี 37 วา 2 ศอก ยอดปลีของปล้องไฉน หุ้มทองคำเหลืองอร่าม สูง 6 วา (เท่ากับ 2 เมตร) 1 ศอก (เท่ากับ 0.50 เมตร) แผ่เป็นแผ่นหนา เท่าใบลานหุ้มไว้ น้ำหนัก 800 ชั่ง (เท่ากับ 960 กิโลกรัม) รอบพระมหาธาตุมีเจดีย์ 158 องค์
- พ.ศ. 2155 และ พ.ศ. 2159 สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถมีการซ่อมแผ่นทองที่ปลียอดพระบรมธาตุ
- พ.ศ. 2190 สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ยอดพระบรมธาตุได้ชำรุดหักลง และได้มีการซ่อมสร้างขึ้นใหม่
- พ.ศ. 2275 - 2301 สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีการดัดแปลงทางเข้าพระสถูปพระบรมธาตุบริเวณวิหารพระทรงม้า
- พ.ศ. 2312 สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ปฏิสังขรณ์พระอารามทั่วไปภายในวัด และโปรดให้สร้างวิหารทับเกษตรต่อออกจากฐานทักษิณรอบองค์พระธาตุ
- สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัด) ได้บูรณะพระวิหารหลวง วิหารทับเกษตร พระบรมธาตุที่ชำรุด
- ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บูรณะกำแพงชั้นนอก วิหารทับเกษต] วิหารธรรมศาลา วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน ปิดทองพระพุทธรูป
- พ.ศ. 2457 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ติดตั้งสายล่อฟ้าองค์พระบรมธาตุเจดีย์
- พ.ศ. 2515 - 2517 บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง และพระอุโบสถ
- พ.ศ. 2530 ซ่อมกลีบบัวทองคำที่ฉีกขาดเปราะบาง เสื่อมสภาพเป็นสนิม เสริมความมั่นคงแข็งแรงที่กลีบบัวปูนปั้น ในวันที่ 28 สิงหาคม 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จอัญเชิญแผ่นกลีบบัวทองคำขึ้นประดิษฐบนองค์พระบรมธาตุเจดีย์
- พ.ศ. 2537 - 2538 บูรณะปลียอดทองคำพระบรมธาตุเจดีย์ และเสริมความมั่นคงปูนแกนในปลียอด ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 50 ล้านบาท สิ้นทองคำ 141 บาท (มาตราชั่ง ตวง วัด ของไทย 1 บาท เท่ากับ 15.2 กรัม)
1 ใน จตุธรรมธาตุ ศักดิ์สิทธิ์ ภาคใต้
ในวันสงกรานต์ ชาวนครศรีธรรมราชจะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์แห่ไปยังสนามหน้าเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นประจำทุกปี
รีวิวทั้งหมด
(รีวิว 1 รายการ)รีวิวเมื่อ 22 มี.ค. 59