“วัดพระธาตุดอยคำ เมืองเชียงใหม่ จากระเบียงจุดชมวิวหน้าพระธาตุ เราสามารถมองเห็นตัวเมืองเชียงใหม่และ ลานจัดงานพืชสวนโลก ได้อย่างชัดเจน พระธาตุดอยคำ สร้างในสมัยพระนางจามเทวี พ.ศ. 1230 ”
พระธาตุดอยคำ ตั้งอยู่บนเกาะเทือกเขาเล็ก ๆ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กม. ภูเขาที่ตั้งของพระธาตุดอยคำ เป็นป่าเขียวขจีมีทัศนียภาพที่สวยงาม ด้านล่างเป็นสวนราชพฤกษ์ 2549 (พืชสวนโลก) และอยู่ใกล้เคียงกับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี (สวนสัตว์กลางคืน) เป็นปูชนียสถานสำคัญและเก่าแก่แห่งหนึ่งของเชียงใหม่ มีอายุมากกว่า 1,300 ปี
วัดพระธาตุดอยคำสร้างในสมัยพระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งลำพูน โดยพระโอรสทั้ง 2 เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ.1230 ประกอบด้วย เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ศาลาการเปรียญกุฏิสงฆ์ และพระพุทธรูปปูนปั้น เดิมชื่อวัดสุวรรณบรรพต แต่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดดอยคำ"
ตามประวัติเมื่อ พ.ศ.2509 ขณะวัดนั้นยังเป็นวัดร้าง กรุแตกพบโบราณวัตถุหลายชิ้น อาทิเช่น พระรอดหลวงเป็นพระหินทรายโบราณ ปิดทององค์ใหญ่ พระสามหอม(เนื้อดิน) และพระคง(เนื้อดิน) ส่วนพระแก้วมรกตประจำองค์พระนางเจ้าจามเทวี หน้าตัก 5 นิ้ว มีคำเล่ากันว่ามีชาวบ้านมาพบตอนกรุแตกและได้นำไปบูชาส่วนตัว ไม่สามารถนำกลับมาได้ การบูรณะวัดและบริเวณใกล้เคียงตั้งแต่ พ.ศ.2524 เป็นต้นมา ได้มีการบูรณะวิหารศาลา วัดหุ้มทรงพระเจดีย์ บูรณะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ "พระพุทธนพีสีพิงค์" และ
ล่าสุดในปี พ.ศ.2538 ได้มีพิธีเททองหล่อพระอนุสาวรีย์พระเจ้าจามเทวี ณ ลานวัดพระธาตุดอยคำ และมีพิธีพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2538 ลักษณะศิลปกรรม องค์เจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา รูปแบบเจดีย์ทรงกลม ดัดแปลงมาลัยเถาเป็นเหลี่ยมศิลปกรรมในวัด ทางวัดมีระเบียงกว้าง ไว้ชมวิวทิวทัศน์โดยรอบ จากจุดนี้ เราสามารถเห็นบริเวณที่จัดงานพืชสวนโลกได้อย่างชัดเจน ที่ตั้ง อยู่หลังที่จัดงานพืชสวนโลก ไปทางเดียวกับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีครับ เป็นวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับพระนางเจ้าจามเทวีกษัตริย์แห่งหริภุญไชย(ปัจจุบันคือจังหวัดลำพูน)
เที่ยวได้ตลอดทั้ง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : วัดพระธาตุดอยคำ 053-248604 , 053-248607
สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ 053-112877 , 053-112877-18
ททท. สำนักงานเชียงใหม่ (สำนักงานชั่วคราว)(เชียงใหม่,ลำพูน,ลำปาง) 053-276140-2
รีวิวทั้งหมด
(รีวิว 19 รายการ)รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2509 ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงฤดูฝน ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ตอนดึกของคืนหนึ่ง ชาวบ้านละแวกเชิงดอยคำได้ยินเสียงล้มครืนลงมาของวัตถุหนักอย่างชัดเจน พอรุ่งเช้าชาวบ้านจึงขึ้นไปดู พบพระเจดีย์เก่าได้พังทลายลงมา พบพระเครื่องชนิดต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้น มีพระสามหอมและพระดง เป็นที่กล่าวขวัญฮือฮากันในตลาดพระอยู่พักหนึ่ง พระครูศรีปริยัติยานุรักษ์ เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้นได้เก็บรักษาพระเครื่องเหล่านั้นไปไว้ที่วัดพันอ้น และต่อมาภายหลัง ท่านได้นำพระเครื่องเหล่านั้นออกมาให้ประชาชนเช่าบูชาเพื่อหาทุนบูรณะพระธาตุดอยคำให้คืนกลับในสภาพเดิมต่อไป
ข้อมูลจาก thaprachan.com
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
ประเพณีเลี้ยงดง หมายถึงการเลี้ยงผีปู่ย่าแสะย่าแสะ บรรพบุรุษของลัวะ โดยปกติจะจัดขึ้นที่บริเวณป่าเชิงเขาดอยคำเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 เหนือ โดยชาวบ้านจะช่วยกันบริจาคเงินสมทบเป็นทุนจัดงานในวันเช้าตรู่ของงาน ชาวบ้านจะพากันจูงควายดำที่มีเขาเพียงหู (ยาวเท่าหู) เข้าไปยังบริเวณพิธีในป่าซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ดงหอ” เพื่อทำการฆ่าควายแล้วนำมาเซ่นไหว้ผีบรรบุรุษ (ปู่แสะและย่าแสะ)
เมื่อวิญญาณของบรรพบุรุษเข้าสิงผู้ทำหน้าที่เข้าทรงแล้ว จิต (วิญญาณ) ของผู้เข้าทรงก็จะเปลี่ยนเป็นผีบรรพบุรุษทันที โดยจะขอกินเนื้อและเลือดควายสด ๆ อย่างไม่ขยะแขยง ประเพณีเลี้ยงดงนี้ ถือว่าเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวลัวะ ดังนั้นชาวลัวะในตำบลนี้จึงจัดพิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษทุกปี ปีละครั้งในวันจัดงานเลี้ยงดง บริเวณป่าจะเต็มไปด้วยผู้คนที่สนใจและสื่อมวลชนเข้ามาดูและทำข่าวอย่างคับคั่งทุกปี ชาวลัวะคิดว่าการอนุรักษ์ไว้ซึ่งประเพณีเลี้ยงดงนี้ จะทำให้พวกเขาโชคดีและมีความสุขตลอดไป
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
งานประเพณีของวัดนี้ ปกติจะจัดในวันแรม 7-8 ค่ำเดือน 8 ของทุกปี โดยงานประเพณีนี้จะมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นไว้ เช่น เดินขึ้นดอย สวดมนต์ ฟังเทศน์ เวียนเทียน โดยมีกำหนดการดังนี้
แรม 7 ค่ำ เดือน 8 เวลากลางคืน ประชาชนจากหมู่บ้านต่าง ๆ พากันเดินขึ้นดอยคำ (เหมือนกับประเพณีเตียวขึ้นดอยสุเทพ) เพื่อทำวัตรสวดมนต์ฟังเทศน์และเวียนเทียนตลอดคืน
แรม 8 ค่ำ เดือน 8 ช่วงเช้าทำพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี จากนั้น เจริญพระพุทธมนต์ถวายภัตตาหารเพลแต่พระสงฆ์ และเริ่มทำพิธีสรงน้ำพระธาตุตลอดทั้งวัน กลางคืนมีการจุดบอกไม้เพลิงถวายเป็นพุทธบูชา
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
ตำนานวัดพระธาตุดอยคำฉบับก่อน ๆ ไม่ได้กล่าวถึงการบูรณะวัดในอดีตไว้ มีเพียงฉบับที่แต่งโดยเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันเท่านั้นที่ได้ระบุว่า วัดพระธาตุดอยคำได้รับการบูรณะมาหลายครั้งดังต่อไปนี้
ครั้งที่ 1 บูรณะโดยพระพม่า ชื่อ อูหม่องภาสิน ในปีพ.ศ. 2181
ครั้งที่ 2 บูรณะโดยพระพม่า ไม่ทราบชื่อ ในปีพ.ศ. 2366
ครั้งที่ 3 บูรณะโดยพระและชาวบ้านจากตำบลหนองควาย ในปีพ.ศ. 2385
ครั้งที่ 4 บูรณะโดย ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ในปีพ.ศ. 2466
ครั้งที่ 5 บูรณะโดย พระปลัดพิณ กิตติวัณโณ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2523 จนถึงปัจจุบัน
ในยุคของพระปลัดพิณนี้มีการพัฒนาวัดอย่างมากมาย เช่น บูรณะวิหาร ศาลา และห่อหุ้มทองเจดีย์ นอกจากนี้ยังได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขนาดกว้าง 13 เมตร สูง 17 เมตร โดยตั้งชื่อว่า “พระพุทธนพีสีพิงครัตน์” ในปีพ.ศ. 2531-2534 โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากทายาทของเจ้าแม่อินหวัน ณ.เชียงใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ได้สร้างอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งหริภุญชัยนครไว้ในบริเวณวัดนี้โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก คุณวัชระ ตันตรานนท์ นอกจากนั้นยังได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านหน้าวัดให้เป็นจุดชมวิวอย่างสวยงามและกว้างขวาง โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากคุณอุดรพันธ์ จันทรวิโรจน์
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
การพุ่งเสน่าครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่บนดอยสุเทพ เป้าหมายกลางเมืองหริภุญชัย ในวันแรม 10 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเมีย พุทธศักราช 1211 ผลปรากฏว่า เสน่าที่ขุนหลวงวิลังคะพุ่งออกจากดอยสุเทพ ไปตกแค่เชิงดอยสุเทพ ตรงบ้านบุ้งน้อย (ปัจจุบันเรียกเพี้ยนเป็นบ้านโป่งน้อย ต.สุเทพ) ทั้งนี้เนื่องจากขุนหลวงวิลังคะ เกิดอาการผิดปกติขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้เรี่ยวแรงที่เคยแข็งขันกลับอ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปหมด ทำให้เสน่าที่พุ่งไปไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ขุนหลวงวิลังคะมารู้ภายหลังว่าเสียทีพระนางจามเทวีแล้ว จึงโกรธแค้นและได้ยกทัพเข้าโจมตีเมืองหริภุญชัยทันที ฝ่ายทางเมืองหริภุญชัยก็เตรียมทัพออกรับศึกจากเชียงใหม่ พระนางจึงทรงให้พระโอรสทั้งสองซึ่งมีพระชนม์เพียง 7 พรรษาออกบัญชาการรบ โดยขี่คอช้าง ผู้ก่ำงาเขียว ซึ่งเป็นช้างเผือก เกิดที่เชิงเขาอ่างสลุง อ.เชียงดาว ชาวหริภุญชัยถือว่าเป็นพระยาคชสารทรงอิทธิฤทธิ์มาก การออกศึกครั้งนี้เจ้ามหันตยศ นั่งหน้า เจ้าอนันตยศ นั่งกลาง ควาญช้างนั่งหลัง ด้วยอำนาจอิทธิฤทธิ์ของพระยาคชสารผู้ก่ำงาเขียว พองาของช้างขุนหลวงวิลังคะสอดประสานงานผู้ก่ำเขียวเท่านั้น ปลายงาของผู้ก่ำงาเขียวก็ลุกเป็นไฟ ช้างของขุนหลวงวิลังคะก็ตื่นกลัวและเบนหนีออกไปทันที เมื่อรี้พลฝ่ายลัวะเห็นเช่นนั้นต่างก็วิ่งหนี ยังความพ่ายแพ้มาสู่ทัพของขุนหลวงวิลังคะ ชาวลัวะบางส่วนได้หนีกระจัดกระจายไปอยู่ตามป่าเขา บางส่วนก็ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของพระนางจามเทวี โดยแต่งตั้งให้ขุนลัวะปกครองตนเอง แต่ต้องส่งส่วยเมืองหริภุญชัยเป็นประจำทุกปี สำหรับตัวขุนหลวงวิลังคะ ตำนานบอกว่า ถูกฟันพระกรขาด ด้วยความคับแค้นและอับอาย ในช่วงกลางคืน ขุนหลวงวิลังคะจึงได้เสวยยาสั่งปลิดชีพตนเองตายระหว่างแตกทัพกลับ พระศพของท่านขุนฯถูกฝังไว้ที่ดอยกู่หรือดอยคว่ำล้องตราบถึงทุกวันนี้
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
พระนางจามเทวี ธิดาแห่งเจ้ากรุงละโว้ ทรงประสูติเมื่อ พ.ศ. 1166 มีพระชนม์ได้ 38 ชันษา และในขณะนั้นพระนางกำลังทรงตั้งพระครรภ์ได้ 3 เดือน ต่อมาภายหลัง พระนางได้ประสูติกุมารแฝด 2 องค์ ตั้งชื่อว่า มหันตยศ และอนนันตยศ ตำนานท้องถิ่นบางเล่มได้กล่าวว่าในปี พ.ศ. 1211 ขุนหลวงวิลังคะ กษัตริย์ของชาวลัวะซึ่งในขณะนั้นท่านมีอายุได้ 34 ปี เกิดหลงใหลในรูปโฉมของพระนางจามเทวีอย่างมาก ซึ่งพระนางมีพระชนม์ได้ 45 ชันษา แม้ท่านจะมีพระชนม์มากแต่ยังสดสวยและแพรวพราว ไม่อาจจะหาหญิงใดในวันนั้นเทียบได้ ขุนหลวงวิลังคะจึงได้ส่งทูตไปเจรจาสู่ขอมาเป็นมเหสี แต่พระนางจามเทวีหาได้มีใจปฏิพัทธ์ในตัวขุนหลวงวิลังคะไม่ ครั้นจะปฏิเสธก็เกรงจะเป็นการหักหาญน้ำใจเกินไป จึงใช้อุบายอันชาญฉลาดสามารถประวิงเวลาต่อมาได้ถึง 7 ปี พระนางจึงได้ตั้งข้อแม้ว่า หากขุนหลวงวิลังคะ สามารถพุ่งเสน่าจากบนยอดดอยสุเทพไปถึงเมืองหริภุญชัยได้ก็จะยอมเป็นมเหสีของท่านขุน เมื่อเสนอเงื่อนไขมาดังนี้ ขุนหลวงวิลังคะก็ตกลงรับเงื่อนไขทันที โดยครั้งแรกเสน่าที่พุ่งออกไปไปตกใกล้ ๆ เมือง คือที่หนองน้ำเหนือเมืองหริภุญชัย (ปัจจุบันคือหนองเสน่า) เมื่อพระนางจามเทวีทราบเรื่องถึงกับตกใจแต่ก็เก็บความรู้สึกไว้ ด้วยความฉลาดและแยบยลจึงทำทีเย็บพระมาลา (หมวก) แล้วลงอาถรรพณ์ไว้ภายใน และให้ทูตนำไปถวายขุนหลวงวิลังคะพร้อมกับรับสั่งว่า ครั้งต่อไปเพื่อเป็นเกียรติและกำลังใจ พระนางจึงขอให้ท่านขุนสวมพระมาลาใบนี้ตอนพุ่งเสน่าด้วย (บางตำนานบอกว่า พระนางจามเทวีได้จัดส่งหมากพลูเป็นเครื่องบรรณาการแก่ขุนหลวงวิลังคะ)
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
จากตำนานท้องถิ่นในภาคเหนือเกือบทุกเล่มกล่าวตรงกันว่า ในปี พ.ศ. 1166 ซึ่งช่วงนั้นท่านสุเทวฤาษียังอยู่ปฏิบัติบำเพ็ญพรตอยู่หลังดอยสุเทพ วันหนึ่งท่านได้ลงมาเก็บอัฐิของบิดามารดา (ปู่แสะ ย่าแสะ) ที่บริเวณป่าพะยอม (ปัจจุบันคือตลาดพยอม) และท่านได้มาพักผ่อนอยู่ที่เชิงดอยคำ ทันใดนั้นท่านได้เห็นพญาเหยี่ยวที่กำลังขยุ้มทารกน้อยวัยประมาณ 3 เดือนโฉบผ่านพาพอดี ท่านจึงได้ตวาดใส่เหยี่ยวตัวนั้นทันที เหยี่ยวตกใจจึงปล่อยทารกน้อยล่องลอยตกลงมาพื้นดิน เดชะบุญตรงนั้นเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ใกล้เชิงดอยคำ เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งที่ดอกบัวใหญ่ในสระน้ำได้อ้ากลีบออกรับทารกน้อยนั้นไว้ไม่ให้ตกลงพื้นน้ำ สุเทวฤาษีก็มหัศจรรย์ใจยิ่งนัก จึงรับทารกน้อยวัย 3 เดือนมาเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม โดยให้เรียนสรรพวิชาทั้งมวลจนหมดสิ้น รวมถึงศิลปะวิทยาการทำศึก หรือตำราพิไชยสงครามและดนตรีทุกอย่างจนกระทั่งทารกน้อยนั้นได้เจริญวัยครบ 13 ปี สุเทวฤาษีจึงต่อเรือยนต์ใส่กุมารีน้อยพร้อมด้วยฝูงวานรจำนวนหนึ่งเป็นบริวาร ปล่อยไหลล่องลอยไปตามลำน้ำปิงจนถึงเมือละโว้ ณ ท่าน้ำวัดเชิงท่า (ตำนานบางเล่มบอกวัดชัยมงคล) เมื่อพระเจ้าเมืองละโว้และมเหสีได้เห็นกุมารีน้อยที่มีพระสิริโฉมงดงามและมีสิริลักษ์บ่งบอกว่าเป็นผู้มีบุญ จึงได้นำไปเลี้ยงไว้ในพระราชวัง และตั้งเป็นราชธิดา มีนามว่า “จามเทวีกุมารี” และให้ศึกษาศิลปวิทยาการตำราพิไชยสงครามและดนตรีทุกอย่างเหมือนพ่อเลี้ยงคนแรก (ฤาษี) จนกระทั่งจามเทวีกุมารี มีพระชมมายุได้ 24 พรรษา เจ้าเมืองละโว้จึงให้สมรสกับเจ้าชายราม แห่งนครรามบุรีในปี พ.ศ. 1190 รามบุรีเป็นเมืองขึ้นและเมืองหน้าด่านของขอม (ปัจจุบันคือ อ.แม่สอด จ.ตาก) ในปี พ.ศ. 1204 พระเจ้ากรุงละโว้จึงทรงแต่งตั้งพระนางจามเทวี ขึ้นครองเมืองหริภุญชัย ตามคำเชิญของสุเทวฤาษีและสุทันตฤาษี ซึ่งขณะนั้นพระนางมีพระชมน์ได้ 34 พรรษา
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
ในปลายพุทธศตวรรษที่ 11 เกิดน้ำท่วมเชียงใหม่ที่เชิงดอยสุเทพ สุเทวฤาษี ซึ่งถือศีลบำเพ็ฐพรตอยู่ที่บริเวณเทือกเขาดอยสุเทพได้พิจารณาเห็นว่า ภัยพิบัติทั้งหลายทั้งมวลเหล่านี้เกิดจากที่กลุ่มชาวลัวะทั้งหลายในบริเวณแห่งนี้ขาดความเคารพนับถือมารดาของตนเอง มีการทุบตีและทำทารุณกรรมแก่มารดาผู้ให้กำเนิด และขาดความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีชนของตน แม้แต่ผู้นำแห่งมิลักขะก็หาเป็นที่พึ่งมิได้ ปล่อยให้ผู้คนปฏิบัติตนอย่างขาดศีลธรรมและจารีตอันดีงาม สุเทวฤาษี จึงได้ติดต่อชักชวนสหายของตนเองที่เมือละโว้มีนามว่า สุกกตันตฤาษี ให้ขึ้นมาช่วยสร้างเมือใหม่ (หนีไปอยู่ที่อื่น) สุเทวฤาษีได้พิจารณาเห็นว่า สถานที่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของดอยสุเทพเป็นชัยภูมิที่ดีเหมาะแก่การทำมาหากินเลี้ยงชีพ อีกทั้งพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมารับลูกสมอฉัน ณ บริเวณแห่งนี้จากชาวลัวะ เมื่อครั้งพุทธกาล โดยสุเทวฤาษีได้สร้างเมืองใหม่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง ตามคำแนะนำของอนุสิสฤาษี เพื่อนของท่านเองที่มาจากศรีสัชชนาลัย เมื่อสร้างเมืองเรียบร้อยแล้ว จึงตั้งชื่อว่า “หริภุญชัยนคร” ซึ่งแปลว่า “เมืองที่พระพุทธเจ้าฉันลูกสมอ” (หริ = ลูกสมอ ภุณช =้ ฉัน นคร = เมือง) จากนั้นสุเทวฤาษีจึงให้สุกกทันตฤาษี และนายคะวะยะ เป็นฑูตไปทูลเชิญพระนางจามเทวี ธิดาแห่งกรุงละโว้ขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 11 ในระมิงคนคร มียักษ์ 3 ตน พ่อ แม่ ลูก ซึ่งมีเชื้อสายมาจากชนเผ่าลัวะ มีนิวาสสถานอยู่ที่หลังดอยคำ ชาวเมืองทั้งหลายจะเรียกว่า ปู่แสะ ย่าแสะ ปู่แสะมีชื่อว่า จิคำ ส่วนย่าแสะมีชื่อว่า ตาเขียว ยักษ์ทั้ง 3 พ่อ แม่ ลูก ชอบกินเนื้อมนุษย์เป็อาหาร
จากตำนานวัดดอยคำ เรียบเรียงโดย คุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์พิมพ์ในปี พ.ศ. 2508 ได้กล่าวว่า ในยุที่ชนเผ่าลัวะทั้งหลายแห่งระมิงคนครกำลังประสบกับความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากยักษ์ 3 ตนที่ดำรงชีพด้วยการกินเนื้อมนุษย์ พระพุทธองค์จึงทรงทราบด้วยญาณอันวิเศษของพระองค์ จึงได้ทรงเสด็จสู่ระมิงคนครเพื่อแสดงธรรมโปรดยักษ์ทั้ง 3 ตน และบรรเทาความเดือดร้อนของชาวเมืองระมิงค์
พระพุทธองค์ทรงประทานพระเกศาแก่ปู่แสะ ย่าแสะ
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงนิวาสสถานของ 3 ยักษ์ พ่อ แม่ ลูก ที่ดอยคำ ทันทีที่ยักษ์ทั้งสามเห็นพระพุทธองค์มาถึงก็หมายมั่นเตรียมจะจับกินเป็อาหาร แต่พระพุทธองค์ทรางทราบถึงวิสัยของยักษ์ทั้งสามดี จึงแผ่พระแมตตาไปยังยักษ์ทั้งสามเหล่านั้น ด้วยพระบารมีและบุญญาธิการของพระองค์ ทำให้กระแสจิตของยักษ์ทั้งสามอ่อนลงและเข้ามาก้มลงกราบแทบพระบาทของพระพุทธองค์ และพระพุทธองค์จึงแสดงธรรมโปรดยักษ์ทั้งสาม ปรากฏว่ายักษ์ผู้เป็นลูก ยอมปฏิบัติตามและสมาทานศีล 5 ได้ ส่วนยักษ์จิคำและตาเขียว ผู้เป็นพ่อ แม่ ไม่สามารถจะรับศีล 5 ได้ เพราะยังต้องยังชีพด้วยการฆ่ามนุษย์และสัตว์เป็นอาหารและขออนุญาตกินเนื้อมนุษย์ปีละ 2 คน แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต จึงต่อรองขอกินเนื้อสัตว์แทน ส่วนยักษ์ผู้บุตรนั้น ได้ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ พระองค์จึงทรงอนุญาตและได้แสดงธรรมให้ฟัง ยักษ์ผู้บุตรนั้น อยู่ในสมณเพศได้ไม่นานก็ขออนุญาตพระองค์ลาสิกขาและไปบวชเป็นฤาษีถือศีลอยู่ที่หุบเขาอุจฉุบรรพต (ดอยสุเทพ) ชื่อ “สุเทวฤาษี”
ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จต่อไปยังสถานที่แห่งอื่น พระองค์ได้ประทานเกศาแก่ยักษ์ปู่และ และย่าแสะ พร้อมได้ตรัสว่า “ดูกรเจ้ายักษ์ทั้ง 2 จงรับและเก็บพระเกศานี้ไว้เคารพบูชาแทนเรา เมื่อเราได้นิพพานไปแล้ว และในวันข้างหน้าจะมีผู้ใจบุญกุศลมาชุมนุมกัน ณ ที่แห่งนี้” ยักษ์ทั้ง 2 รับเอาพระเกศาจากพระองค์แล้วเอาไปบรรจุไว้ในผอบแก้วมรกตและบูชากราบไหว้เป็นนิจสิน จึงเกิดศุภนิมิตขค้นด้วยมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน และน้ำฝนได้หลั่งไหลจากภูเขาต่าง ๆ ลงมาชะล้างแร่ธาตุทองคำตามหุบเขาราวห้วย พัดพาทองคำไหลลงสู่ปากถ้ำเป็นจำนวนมาก ผู้คนจึงเรียกภูเขาและถ้ำนี้ว่า ถ้ำคำและดอยคำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้
ต่อมาภายหลังเมื่อยักษ์ผู้เป็นบุตรได้ลาสิกขาออกมาและไปบวชเป็นพระฤาษีอยู่หลังดอยสุเทพ ยักษ์ผู้เป็นพ่อชื่อ จิคำ ที่ชาวบ้านเรียกว่า ปู่แสะ ก็ไปถือศีลดำรงชีพอยู่บริเวณใกล้ ๆ กับวัดฝายหิน เชิงดอยสุเทพ ส่วนยักษ์ผู้เป็นแม่ชื่อ ตาเขียว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ย่าแสะ ได้อยู่ดูแลรักษาถ้ำดอยคำและพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจนสิ้นชีวิต
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
หนังสือตำนานวัดพระธาตุดอยคำ ฉบับปี 2548 หน้า 24 ได้กล่าวถึงความขัดแย้งกันระหว่าง 2 ชนเผ่า ในขณะนั้น สุเทวฤาษี ซึ่งถือศีลบำเพ็ญพรตอยู่หลังดอยสุเทพ จึงได้เข้ามาประสานเป็นตัวเชื่อมให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้ามาเจรจากันเพื่อสร้างความสมานฉันท์ โดยนัดให้หัวหน้าเผ่าทั้งสองมาพบกันที่ยอดดอยคำ เมื่อทั้งสามมาพบกัน ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหลวงคำแดง ขุนหลวงวิลังคะ และสุเทวฤาษี ต่างก็เห็นแก่ความสงบสุข จึงรับเงื่อนไขกันว่าให้ไทยใหญ่ตัดผมเช่นลัวะ ส่วนลัวะก็ให้เปลี่ยนมานุ่งกางเกงเช่นเดียวกับไทยใหญ่ จากนั้นมาทั้งสองฝ่ายก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความผาสุก ไม่รบราฆ่าฟันกันอีกต่อไปจนถึงทุกวันนี้
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
เช่นเดียวกับชาวไทยใหญ่ที่อยู่หุบเขาเชียงดาวมีความเคารพนับถือพระเจ้าหลวงคำแดงอย่างสูง และพวกเขาเชื่อกันว่าเทวดาได้ปกาศิตให้เทวยักษ์ตนหนึ่งมีนามว่า “เจ้าหลวงคำแดง” พ้อมด้วยบริวาณมาเฝ้ารักษาของวิเศษต่าง ๆ ที่เทวดาได้เนรมิตไว้ในถ้ำแห่งนี้นานหลายร้อยปี โดยเทพธิดาที่เป็นพระชายาของเจ้าหลวงคำแดง ได้แปลงร่างเป็นกวางทอง เดินหายเข้าไปในถ้ำพร้อมกับเจ้าหลวงคำแดงและหายไปจนถึงบัดนี้ แต่บางตำนานได้กล่าวว่า
ดอยเชียงดาวมีความสูงประมาณ 2,180 เมตร จากระดับน้ำทะเลปลานกลาง บนยอดดอยจะมีพื้นที่ที่เป็นลักษณะหลุมหรืออ่างอยู่ 2 อ่าง ซึ่งชาวบ้านจะเรียกว่า “อ่างสลุง” อ่างใหญ่จะมีเนื้อที่ประมาณ 4 ตารางไร่ ลึกประมาณ 3 เมตร อ่างเล็กมีเนื้อที่ประมาณ 1 ตารางไร่ ลึกประมาณ 100 เมตร จากจำนานดอยหลวงเชียงดาวกล่าวว่า ดอยหลวงเชียงดาวมีถ้ำเล็ก ๆ หลายแห่งอยู่รอบเขา โดยเชื่อว่าบนดอยสุเทพและหุบเขาราวถ้ำเหล่านี้เป็นที่อยู่และที่ชุมนุมของบรรดาเหล่าเทวดาและยักษ์ทั้งหลาย รวมถึงมวลนาคราชทุกเหล่ากอโดยมีพรหมฤาษีบำเพ็ญพรตเฝ้ารักษาดูแลอยู่ ซึ่งเทวดาทั้งหลายได้เนรมิตของวิเศษทั้งหลายไว้ในถ้ำหลวงเชียงดาวแห่งนี้เป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปทองคำ ช้าง-ม้า ทองคำ และดาบวิเศษ เป็นต้น
ในอดีตบริเวณดอยหลวงเชียงดาวจะเป็นป่าทึบ เต็มไปด้วยไม้ใหญ่นานาพันธุ์ มากด้วยสัตว์ดุร้ายต่าง ๆ มี เสือ สิงห์ กระทิง แรด และงูใหญ่น้อย ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 12 มีเจ้าไทยใหญ่คนหนึ่งมาจากพะเยา มีนามว่า เจ้าสุวรรณคำแดง ซึ่งคนทั่วไปจะเรียกว่า “เจ้าคำแดง” ได้ขึ้นมาล่าสัตว์พร้อมกับบริวารจำนวนมากบริเวณปากถ้ำเชียงดาว ในขณะนั้นมีนางผีดิบนางหนึ่งซึ่งอาศัยในถ้ำนั้นเห็นเจ้าสุวรรณคำแดง จึงเกิดมีใจรักใคร่ในตัวของเจ้าคำแดง นางผีดิบนางนี้มีชื่อว่า “นางอินเหลา” นางได้แปลงร่างเป็นกวางทองหลอกเจ้าหลวงคำแดงให้หลงใหลและติดตาม ในที่สุดเจ้าหลวงคำแดงก็ไล่ติดตามกวางทองเข้าไปในถ้ำและหายตัวไปไม่กลับมาจนกลายเป็นตำนานเจ้าหลวงคำแดงอยู่เฝ้าสมบัติในถ้ำนั้นมาจนถึงบัดนี้
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
โยนกได้ล่มสลายไปก่อนพระพุทธศตวรรษที่ 10 ไม่กี่ปี ต่อจากนั้นเวียงเปิกสา ซึ่งปกครองโดยบรรดาขุนทั้งหลายอีก 14 ขุน กินเวลา 1 ศตวรรษ รวมแล้วทั้งโยนกคนรและเวียงเปิกสากินเวลาไป 11 ศตวรรษ (1,100 ปี) ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12 มีกลุ่มชนชาวลัวะเชื้อสายปู่เจ้าลาวจก ซึ่งอาศัยอยู่ตามหุบเขาดอยตุงและลุ่มแม่น้ำสาย แม่น้ำกก และแม่น้ำโขง ชาวลัวะกลุ่มนี้จะมีความสัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับชนเผ่าไทยลื้อ ที่อพยพมาทางเหนือ (เชียงรุ้ง-สิบสองปันนา) ดำรงชีพอยู่ด้วยกันอย่างสงบสนุขนับร้อยฯปี ล่องลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ยังมีชนเผ่าลัวะอีกกลุ่มหนึ่งมีนิวาสสถานและถิ่นพำนักอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำระมิงค์และหุบเขาดอยสุเทพ ดอยคำและดอยเชียงดาว ชนเผ่าลัวะกลุ่มนี้จะอยู่ปะปนและใกล้ชิดกับพวกไทยใหญ่ ไทยเขิน ซึ่งส่วนใหญ่จะอพยพมาจากเชียงตุงมาอยู่ที่หุบเขาดอยเชียงดาว จะไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีการสู้รบกันบ่อย ๆ ชนเผ่าลัวะถือว่าบริเวณแห่งนี้เป็นอาณาจักรของเขา ชื่อ นครทัมมิฬะ บ้างก็เรียก นครมิรังกุระ ปกครองโดยพระเจ้าอุปติราชา และพระเจ้ากุนาระราชาสืบต่อกันมา ภายหลังขุนหลวงวิลังคะ ได้ขึ้นครองเมือง เป็นกษัตริย์ของชาวลัวะองค์ที่ 13 แห่งราชวงศืกุนาระและเปลี่ยนชื่อนครเป็น “ระมิงคนคร” มีถิ่นพำนักอยู่ลุ่มแม้น้ำปิง และหลังดอยคำ-ดอยสุเทพ ชาวลัวะให้ความเคารพนับถือขุนหลวงวิลังคะมาก ท่านมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่บริเวณหุบเขาด้านเหนือของดอยสุเทพ ปัจจุบันตรงกับบ้านเมืองก๊ะ หมู่ที่ 5 ต.สะลวง อ.แม่ริม เชียงใหม่ ซึ่งภายใจหมู่บ้านนั้นได้ตกแต่งภูมิทัศน์และสร้างอนุสาวรีย์ของขุนหลวงวิลังคะไว้เป็นอนุสรณ์ของชาวลัวะ ท่านเกิดปี พ.ศ. 1137 ท่านเป็นกษัตริย์แห่งระมิงคนครเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 12 ท่านมีความสามารถพิเศษในด้านการพุ่งเสน่าไปไกลจนเป็นที่เลื่องลือ ท่านขึ้นครองเมืองระมิงคนครในยุคเดียวกันกับพระนางจามเทวี ที่ขึ้นมาครองเมืองหริภูญชัย
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
เมื่อโยนกนครได้ถึงกาลวิบัติแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็สูญสิ้นไปหมด ประชาชนที่ยังคงมีชีวิตอยู่ได้ร่วมปรึกษาหารือกันหาที่ทำเลสร้างเมืองใหม่ ที่ประชุมได้ตกลงเลือกเอาพื้นที่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงเป็นเมืองใหม่โดยตั้งชื่อเมืองว่า “เวียงเปิกสา” (ปรึกษา) ซึ่งอยู่ห่างจากนครโยนกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 5 กม. (ที่ตั้งอำเภอเชียงแสนปัจจุบัน) เมื่อสร้าเวียงเปิดสาเรียบร้อยแล้ว ขุนพันนา ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่รอดตายจากเหตุเวียงโยนกล่มสลายครั้งนั้น และถือว่าเป็นผู้มีอำนาจอิทธิพลมากในกลุ่มคนเหล่านั้น ขุนพันนา จึงตัดสินใจไปเชิญขุนลังมาครองเวียงเปิกสาเป็นองค์แรก (ขุนลัง คือ รัชทายาที่แท้จริงของราชวงศ์สิงหนวัติ) บรรดาขุนทั้งหลายครองเวียงเปิกสารวม 14 ขุน เป็นเวลาเกือบ 1 ศตวรรษ (รวม 96 ปี) ประกอบด้วย ขุนลัง ขุนจาง ขุนช้าง ขุนตาล ขุนตาม ขุนตัน ขุนแต่ง ขุนจอม ขุนจง ขุนจอด ขุนชื่น ขุนสิทธิ์ ขุนสุทธิ์ และขุนสุก จากตำนานเมืองเชียงแสนของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า ขุนทั้หลายเหล่านี้ เป็นผู้อาธรรม์ ไม่มีความศรัทธาในพระรัตนตรัย ศาสนาก็มีความหม่นหมอง ไม่รุ่งเรือง บ้านเมืองก็ไม่เจริญ ได้สะดุดหยุดลงแค่นั้น ถือเป็นการสิ้นสุดของเวียงเปิกสา
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
เช้าวันรุ่งขึ้น ตอนสาย เมื่อพระอาทิตย์ส่องแสงสว่างจ้า นครโยนกที่กำลังเจริญรุ่งเรืองกลับกลายเป็นความเวิ้งว้างว่างเปล่าของหนองน้ำอันกว้างใหญ่และลึก พระราชวังหลวงอันเป็นจุดเริ่มต้น ถล่มจมลึกที่สุดราวกับจมไปถึงห้วงอเวจี พระเจ้าไชยชนะและขัติยวงศาพร้อมบริวารที่ร่วมกันรับประทานปลาไหลเผือกก็พากันถึงกาลกิริยาไปตามกรรมแห่งตน สิ่งที่เหลืออยู่ในเมืองนี้มีเพียงกระท่อมน้อยเรือนพักหญิงม่ายชราที่ไม่ได้กินปลาไหลเผือก ตั้งอยู่โดดเดี่ยว ไม่ห่างจากขอบบึงอันกว้างนั้น และไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อคืนก่อน ผู้คนต่างทยอยมาดูเหตุการณ์ด้วยความเศร้าสลดใจและสงสารชาวนครโยนก พวกเขาได้ซักถามด้วยความอยากรู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในเมืองนี้ แม่ม่ายชราได้เล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ผู้คนที่มาฟังดูว่า ในมัชฌิมยามนั้น มีหนุ่มรูปงามผู้หนึ่งได้เข้ามาหานางที่กระท่อมแล้วบอกว่า “ยายไม่ได้กินเนื้อปลาไหลเผือกที่ชาววังเขาไปจับลากมาจากแม่น้ำกกและฆ่าชำแหละเนื้อแบ่งกันกินเป็นการดีแล้ว” ยายบอกว่า “ถึงเขาแบ่งให้ก็ไม่กิน เพราะยายถือศีลไม่กินเนื้อหรือเบียดเบียนผู้ใดทั้งสิ้น” มานพหนุ่มผู้นั้นสั่งอีกว่า “งั้นดีแล้ว คืนนี้หากยายได้ยินเสียงหรือเห็นแสงฟ้าฟาดก็อย่าได้ตกใจ ขอให้อยู่ภายในกระท่อมนี้เท่านั้น อย่าได้ออกไปภายนอกเด็ดขาด” ว่าแล้วมานพหนุ่มก็ได้ลงจากเรือนหายไป
หลังจากมานพหนุ่มได้ลงจากกระท่อมแม่ม่ายชราไปไม่นานนัก เสียงอื้ออึงอลหม่านต่าง ๆ ก็ดังขึ้นเหมือนกันที่มานพหนุ่มนั้นได้พูดไว้ นางตกใจกลัวอยู่ในกระท่อม ใจหนึ่งก็อยากจะเปิดประตูออกไปดูว่าอะไรเกิดขึ้นแต่ก็ไม่กล้ทำ เพราะนึกถึงมานพหนุ่มที่ได้สั่งไว้ นางพยายามเก็บตัวเงียบอยู่ภายในกระท่อมจนถึงวันรุ่งขึ้น นางรู้สึกประหลาดใจเมื่อเปิดหน้าต่างดู พบกับความเวิ้งว้างว่างเปล่าของนครโยนกที่ได้กลับกลายเป็นหนองน้ำกว้างใหญ่ไพศาลตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ม่ายชราเล่าเหตุการณ์ให้ฟังอีกว่า เจ้าผู้ครองเมืองคนไหนปกครองบ้านเมืองโดยขาดศีลธรรมจะนำความเดือนร้อนมาสู่ประชาชนและบริวาร และในที่สุดก็จะนำตนไปสู่ความวิบัติดังเช่นเจ้าไชยชนะ อยากเป็นกษัตริย์ครองนครโยนก จึงได้นำเอารัชทายาทไปสำเร็จโทษเสียก่อนแล้วขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองโยนก พระองค์ประกอบกรรมชั่วโดยวางแผนล่วงหน้าไว้ก่อน ดังนั้นผลกรรมจึงตามสนองพระองค์ให้ตายตามไปอย่างทรมาน
ม่ายชรายังได้เปิดเผยต่อไปอีกว่า รัชทายาทที่ทุกคนเข้าใจว่าถูกฆ่าสำเร็จโทษไปแล้วนั้น แท้ที่จริงยังไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ส่วนผู้ที่ถูกฆ่าตายแทนรัชทายาทนั้นก็คือลูกชายของยายเอง รัชทายาทคนนั้นปัจจุบันคือ คามโภชกะ (คามโภชะกะ คือนายบ้านหรือผู้ใหญ่บ้านนั่นเอง) อยู่ที่บ้านชุม ไม่ไกลจากที่นี่ ประชาชนเรียกเขาว่า “ขุนลัง”
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็บังเกิดขึ้นหลังจากพระองค์และเหล่าบริวารทั้งหลายได้ร่วมกันรับประทานปลาไหลเผือกอย่างเอร็ดอร่อยและสนุกสนานภายในพระตำหนัก ท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้มมัวฝน เกิดเสียงฟ้าอืดดอยครางซึ่งเป็นสัญญาณแห่งความหายนะมาเยือน โดยตอนปฐมยามของคืนนั้นมีฝนตกหนัก พายุแรง ฟ้าผ่า ฟ้าคะนองเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน น่าหวาดเสียวยิ่งนัก ผ่อนเบาลงเป็นบางช่วง พอถึงมัชฌิมยามเหตุการณ์ก็เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ครั้นปัจฉิมยาม เหตุการณ์ทุกอย่างก็หาได้บรรเทาลงไม่ กลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและเกิดแผ่นดินไหว ท้องฟ้าส่งประกายแสงและภูดอยทั้งหลายส่งเสียงดังสนั่นสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งนคร เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติครั้งยิ่งใหญ่ นำความหายนะมาสู่คนครโยนก จนทำให้นครโยนกล่มสลายไปเป็นหนองน้ำในชั่วพริบตา ซึ่งหลักฐานต่าง ๆ ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ที่ชาวบ้านเรียกว่า หนองบงคาย หรือ ทะเลสาบเชียงแสน
--------------------------------------------------
ภาพ สถานที่จัดงานพืชสวนโลก
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
พันธุสิงหนวตินครมีอาณาเขตดังนี้ หนบูรพา มีขรนทีเป็นแดน หนปัจฉิม มีตุงคบรรพตเป็นแดน
หนอุดร มีต้างหนองแสเป็นแดน หนทักษิณ มีลวรัฐและระมิงคนทีเป็นแดน และสถาปนาเมืองโยนก (เชียงแสน) เป็นเมืองหลวง พันธุสิงหนวตินครปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์สิงหนวัติรวม 48 พระองค์ กินเวลาร่วม 10 ศตวรรษ (หนึ่งพันปี) โดยเริ่มจาก พญาสิงหนวติราช, พญากันทติราช, พญาอชุตราช จนถึง พระเจ้าทุกขิตตา, พระเจ้ามหาวรรณ และองค์สุดท้าย พระเจ้าไชยชนะ (องค์ที่ 48)
พระเจ้าไชยชนะ กษัตริย์องค์ที่ 48 ไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม มีจิตใจโหดร้ายและอำมหิต ทำให้ประชาชนไม่เคารพยกย่องนับถือ วันหนึ่งเหล่าข้าราชบริพารของพระองค์ ได้พากันออกล่าสัตว์ป่าตามปกติและได้พบปลาไหลเผือกขนาดใหญ่ตัวหนึ่งที่กลางแม่น้ำกก มีลำตัวขนาดเท่าต้นตาล จึงได้พยายามช่วยกันทุบตีและจับปลาไหลเผือกตัวนั้นไว้ได้และได้ช่วยกันลากมาถวายแก่พระเจ้าไชยชนะฯ จึงรู้สึกยินดีและแปลกประหลาดใจที่ได้เห็นปลาไหลเผือกตัวใหญ่เช่นนั้น เพราะไม่เคยพบเห็นมาก่อน พระองค์จึงทรงสั่งให้ฆ่าและชำแหละเนื้อออกแจกจ่ายกันกินโดยทั่วในเย็นวันนั้น ในส่วนของพระองค์ก็ได้ร่วมเสวยกับเหล่าบริวารที่ใกล้ชิดภายในตำหนักของพระองค์เอง
-------------------------
ทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ จากลานชมวิว
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
ในยุคก่อนเริ่มต้นพุทธศตวรรษ ซึ่งในขณะนั้น พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ มีกษัตริย์องค์หนึ่ง พระนามว่า “เทวกาล” เป็นกษัตริย์แห่งกรุงราชหฤหนคร ประเทศอินเดีย ดินแดนแห่งพุทธภูมิ พระองค์ทรงเป็นพระญาติกับพระเจ้า “ สุทโธทนะ” พระราชบิดาของพระพุทธองค์ กษัตริย์เทวกาลทรงมีพระราชบุตรและพระราชธิดารวมกัน 60 องค์ องค์โตชื่อ “พิมพิสารกุมาร” ได้ขึ้นเป็นพระอุปราชแห่งพระองค์เพื่อเตรียมขึ้นครองเมืองต่อไป ส่วนองค์ที่สองรองลงมา มีนามว่า “สิงหนวติกุมาร” เมื่อได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สมบัติจากพระราชบิดาเรียบร้อยแล้ว สิงหนวัติกุมารจึงพาน้องสาวองค์หนึ่งเข้ากราบทูกลลาพระราชบิดาเทวกาล เพื่อออกเดินทางมุ่งหน้าไปทางทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) เพื่อทรงแสวงหาชัยภูมิสร้างเมืองใหม่ และได้พบชัยภูมิที่ดีและเหมาะสมแห่งหนึ่งใกล้กับแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของเหล่ามิลัคขุทั้งหลาย ที่มีปู่เจ้า ลาวจนกกุละ เป็นหัวหน้า จึงหยุดพักและปลูกบ้านแปลงเมืองอยู่ที่นี่ โดยมีพญานาคราชา ผู้รักษาลำน้ำแห่งนี้มาตั้งแต่ต้นตระกูลของบรรพบุรุษ แปลงกายมาเป็น “พันธุพราหมณ์” มาช่วยสร้างเมืองและตั้งชื่อเมืองนี้ว่า “พันธุสิงหนวตินคร” โดยสิงหนวติกุมาร เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์นี้
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
พระเจดีย์แห่งแรก อยู่บนยอดเขาเล็ก ๆ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 200 เมตร อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า พระธาตุดอยคำ เคยเป็นที่อยู่อาศัยของยักษ์ 2 ผัวเมีย ชื่อ จิคำและตาเขียวมาก่อน ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้เรียกยักษ์ทั้งสองนี้ว่า “ปู่แสะ-ย่าแสะ” ปู่แสะและย่าแสะมีลูก 1 คน ชื่อว่า สุเทวฤาษี เหตุที่ได้ชื่อว่าดอยคำ เนื่องจากศุภนิมิตที่ยักษ์ทั้งสองได้รับพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้า เกิดฝนตกหนักหลายวันทำให้น้ำฝนเซาะและพัดพาแร่ทองคำบนไหล่เขาและลำห้อยไหลลงสู่ปากถ้ำเป็นจำนวนมาก จึงเรียกภูเขาลูกนี้ว่า “ดอยคำ” จากตำนานหลายฉบับได้กล่าวว่าเทวดาได้นำพระเกศาธาตุที่พระพุทธเจ้าได้ประทานแก่ปู่แสะและย่าแสะนำขึ้นมาฝังแล่ะกอสถูปไว้บนดอยแห่งนี้ และต่อมาในปี พ.ศ. 1230 เจ้ามหันตยศ และเจ้าอนันตยศ 2 พระโอรสแฝดของพระนางจามเทวี แห่งหริภูญชัยนครได้ขึ้นมาก่อเจดีย์ครอบพระสถูปเกศานั้นไว้
ส่วนพระเจดีย์แห่งที่ 2 ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงทางทิศเหนือของดอยคำ มีความสูงถึง 1,053 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยพระเจ้ากือนา กษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งรายและพระมหาสุมนเถระ ได้อัญเชิญพระบรมธาตุที่ได้มาจากเมืองปางจา จังหวัดสุโขทัย ขึ้นมาฝังและก่อเจดีย์ครอบไว้เมื่อปี พ.ศ. 1914 และเรียกว่า พระธาตุดอยสุเทพตามชื่อของ สุเทวฦาษีที่บำเพ็ญพรตอยู่หลังเขาแห่งนี้
รีวิวเมื่อ 9 พ.ย. 53
เทือกเขาถนนธงชัย ซึ่งมีภูเขาสูงชัน น้อยใหญ่ สลับซับซ้อนและหลากหลายเรียงรายทอดยาวลงไปถึงดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง ผ่านอำเภอเมืองเชียงใหม่ ด้านทิศตะวันตกบนเทือกเขาเหล่านั้นจะเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระเจดีย์สำคัญและเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ถึง 2 องค์พระเจดีย์ แต่ละแห่งถูกสถาปนาขึ้นโดนพระมหากษัตริย์ในสมัยหริภูญชัยและล้านนาตามลำดับดังนี้
พระเจดีย์แห่งแรก อยู่บนยอดเขาเล็ก ๆ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 200 เมตร อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า พระธาตุดอยคำ เคยเป็นที่อยู่อาศัยของยักษ์ 2 ผัวเมีย ชื่อ จิคำและตาเขียวมาก่อน ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้เรียกยักษ์ทั้งสองนี้ว่า “ปู่แสะ-ย่าแสะ” ปู่แสะและย่าแสะมีลูก 1 คน ชื่อว่า สุเทวฤาษี เหตุที่ได้ชื่อว่าดอยคำ เนื่องจากศุภนิมิตที่ยักษ์ทั้งสองได้รับพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้า เกิดฝนตกหนักหลายวันทำให้น้ำฝนเซาะและพัดพาแร่ทองคำบนไหล่เขาและลำห้อยไหลลงสู่ปากถ้ำเป็นจำนวนมาก จึงเรียกภูเขาลูกนี้ว่า “ดอยคำ” จากตำนานหลายฉบับได้กล่าวว่าเทวดาได้นำพระเกศาธาตุที่พระพุทธเจ้าได้ประทานแก่ปู่แสะและย่าแสะนำขึ้นมาฝังแล่ะกอสถูปไว้บนดอยแห่งนี้ และต่อมาในปี พ.ศ. 1230 เจ้ามหันตยศ และเจ้าอนันตยศ 2 พระโอรสแฝดของพระนางจามเทวี แห่งหริภูญชัยนครได้ขึ้นมาก่อเจดีย์ครอบพระสถูปเกศานั้นไว้
ส่วนพระเจดีย์แห่งที่ 2 ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงทางทิศเหนือของดอยคำ มีความสูงถึง 1,053 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยพระเจ้ากือนา กษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งรายและพระมหาสุมนเถระ ได้อัญเชิญพระบรมธาตุที่ได้มาจากเมืองปางจา จังหวัดสุโขทัย ขึ้นมาฝังและก่อเจดีย์ครอบไว้เมื่อปี พ.ศ. 1914 และเรียกว่า พระธาตุดอยสุเทพตามชื่อของ สุเทวฦาษีที่บำเพ็ญพรตอยู่หลังเขาแห่งนี้